xs
xsm
sm
md
lg

กรมควบคุมโรคจ่อหารือ กสทช. - AIS ทำ SMS แจ้งเตือนภัยสุขภาพเมื่อเข้าพื้นที่เสี่ยง เล็งร่วมมือ บ.ตู้กดน้ำ-อาหาร พ่วง "ถุงยางอนามัย" ฟรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมควบคุมโรคจ่อหารือ กสทช. - AIS ทำ SMS หรือ Beacon แจ้งเตือนโรคและภัยสุขภาพ เมื่อเข้าพื้นที่เสี่ยง ย้ำงานระบาดวิทยาต้องเน้นการสื่อสารความเสี่ยงด้วย หนุนใช้ไลน์ส่งข้อมูลให้ความรู้ เจาะกลุ่มเสี่ยง แนะร่วมบริษัทตู้กดน้ำ-อาหาร พ่วงถุงยางอนามัย เป็นทางเลือกเข้าถึงการป้องกันโรคฟรี

เมื่อวันที่ 21 พ.ย. ที่โรงแรมทีเคพาเลซฯ นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเปิดการประชุมวิชาการ "หนึ่งศตวรรษงานป้องกันควบคุมโรค จากอดีตสู่ปัจจุบันและอนาคต" จัดโดยกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค สมาคมนักระบาดวิทยาภาคสนาม (FEAT) และชมรมหัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดประเทศไทย ว่า งานระบาดวิทยาเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการสร้างเครือข่าย ยิ่งตอนนี้มีการถ่ายโอน รพ.สต.ไปท้องถิ่น แม้ถ่ายโอนไปแต่เครือข่ายระบาดวิทยายังต้องอยู่ เหมือนใยแมงมุม ขาดตอน มีช่องโหว่ไม่ได้ ไม่งั้นแมลงทะลุไปได้ ดังนั้น แม้ถ่ายโอนไปจะไม่ได้อยู่ในโครงสร้างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แต่เครือข่ายเรายังต้องจับมือกันอยู่ ทั้งนี้ บทเรียนระบาดวิทยาเป็นเรื่องท้าทายมาก โดยเฉพาะช่วงโควิด วันนี้เรื่องระบาดวิทยาการควบคุมป้องกันโรคไม่ใช่แค่บริบทของโรค แต่ครอบคลุมบริบทเศรษฐกิจ สภาพสังคม จิตใจด้วย

"อย่างตอนโควิดระบาด ผมเป็นรองปลัด สธ. มีหน้าที่จัดซื้อจัดจ้างซื้อวัสดุอุปกรณ์ของต่างๆ ช่วยอยู่ในการประชุมอีโอซี เป็นประสบการณ์ต่างๆ ซึ่งหลายๆ ครั้งที่ตัดสินใจอะไร จะยึดมั่นความเป็นวิชาการในระบาดวิทยา อย่างยุโรปเสียชีวิตเยอะมากช่วงโควิด เราเห็นและจัดการควบคุมโรค โดยหากเราลงไปเร็วก็คุมได้เร็ว ถ้าช้าก็จะเอาไม่อยู่ ดังนั้น ไทม์มิง ช่วงเวลาสำคัญมาก" นพ.ธงชัยกล่าว


นพ.ธงชัย กล่าวว่า จากการที่นักระบาดวิทยา งานระบาดวิทยาช่วยในการป้องกันควบคุมโรคก็ทำให้เราเป็น 1 ใน 5 ในเรื่องการควบคุมป้องกันโรคได้ เพราะเรายึดมั่นเรื่องวิชาการ ณ ตอนนั้นเราก็รับแรงกระทบพอสมควร ทั้งเศรษฐกิจ สังคม ต้องทำไทม์ไลน์กันเยอะ เชื่อว่าพวกเราที่เป็นเครือข่ายการติดตามโรคเหนื่อยมาก แต่เราต้องทำ ตอนที่เป็นรองปลัดเคยบอกว่าทำไมเราไม่รักษาแบบโอพีดี ผู้ป่วยนอก ขณะนั้นคนไม่เข้าใจตนก็โดน แต่สุดท้ายก็มีการรักษาโอพีดี ซึ่งก็อยู่ที่จังหวะ อยู่ที่ไทม์มิ่งจริงๆ สิ่งที่อยากเห็นคือ เราต้องมีนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เสนอว่าควรมีการแจ้งเตือนแบบ SMS เหมือนตอนที่เดินในห้างสรรพสินค้า ผ่านร้านกาแฟร้านหนึ่งจะมีข้อความส่งมาบอกลดราคา เพราะล็อกแอเรียได้ ขณะนี้ได้มอบให้กรมไปหารือร่วมกับ AIS และ กสทช. ว่าจะทำลักษณะการแจ้งเตือนภัยสุขภาพได้หรือไม่ เช่น หากเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงภัยสุขภาพ อย่างฝุ่น PM2.5 ให้มี SMS เตือน และทิ้งท้ายว่าด้วยความปรารถนาดีจากกรมควบคุมโรค

"นี่เป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับประชาชนที่มีต่อกรมควบคุมโรค กับงานระบาดวิทยา ดังนั้น วันนี้เรามีเทคโนโลยีหลายตัวเราสามารถนำมาใช้ได้โดยเอางานระบาดวิทยามาใส่เพื่อประโยชน์ให้เกิดขึ้น นี่คือการสื่อสารความเสี่ยงที่สำคัญมาก” นพ.ธงชัย กล่าว

นพ.ธงชัย กล่าวว่า เรื่องการควบคุมโรค เราต้องเจาะกลุ่มเฉพาะ กลุ่มเสี่ยงด้วย ต้องใช้ไลน์ให้เป็นประโยชน์ ใช้ตรงนี้แจ้งเตือนกลุ่มเฉพาะต่างๆ อย่างฝีดาษวานร กลุ่มชายรักชายเราก็ต้องให้ข้อมูลสื่อสารความรู้ตรงนี้แก่พวกเขา รวมไปถึงโรคอื่นๆ ด้วย อย่างเบาหวาน ความดันโลหิต ต้องเจาะกลุ่มครอบครัวที่มีประวัติโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ทั้งหมดเราต้องคิดแบบระบาดวิทยา รวมไปถึงเราควรหาช่องทางในการป้องกันโรค อย่างถุงยางอนามัย หรือชุดตรวจโรคอย่างเอชไอวี เราควรไปร่วมกับบริษัทตู้เครื่องดื่ม หรือตู้กดอาหาร โดยเราเอาพวกนี้ไปใส่ไว้ในช่องสุดท้าย เพื่อให้เป็นทางเลือกให้กดเลือกได้ ดังนั้น หากบริษัทตู้อยากทำ CSR ก็น่าจะมาร่วมกันเป็นทางเลือกให้ประชาชน เพราะชุดตรวจ ถุงยางอนามัยได้รับฟรีจากรัฐอยู่แล้ว เราจึงควรมีการเพิ่มช่องทาง

“โรคก็เหมือนแมลงที่จะบินเข้าไปยังใยแมงมุมของพวกเรา หากเรามีช่องโหว่ก็จะรอดไปได้ แต่วันนี้เราจะต้องเป็นใยแมงมุมเชื่อมได้ทุกจุด แม้รพ.สต.บางส่วนจะไปอยู่นอกกระทรวงฯ ไปอยู่ท้องถิ่น เพราะเขาเป็นกำลังสำคัญหนึ่งในการป้องกันควบคุมโรค สุขภาพไม่มีค่ายไหน มีค่ายเดียวคือ สุขภาวะของประชาชน” นพ.ธงชัย กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น