รพ.มะเร็งลำปาง พัฒนา “พิชัยโมเดล” ชุมชนต้นแบบปลอดมะเร็ง สร้างความร่วมมือทุกภาคส่วน เดินหน้าตามนโยบาย “มะเร็งครบวงจร” รู้เท่าทัน ป้องกันได้ ตรวจพบรักษาไว ปลอดภัยจากมะเร็ง
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า กรมการแพทย์ได้ร่วมขับเคลื่อนดำเนินการดำเนินงานนโยบายกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายสำคัญและเร่งด่วน “Quick win” ของนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้มุ่งเน้นประชาชนสุขภาพดี ครบ 4 มิติ ทั้งสุขภาพกาย ใจ ปัญญาและสุขภาพทางสังคม สำหรับนโยบายมะเร็งครบวงจร เป็นหนึ่งในนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่สำคัญเพื่อแก้ไขปัญหามะเร็งอย่างเป็นระบบภายใต้กรอบแนวคิด “รู้เท่าทัน ป้องกันได้ ตรวจพบรักษาไว ปลอดภัยจากมะเร็ง” ที่ดำเนินการตั้งแต่การส่งเสริม ป้องกัน คัดกรอง ตรวจวินิจฉัย รักษาโรคมะเร็ง จนถึงการดูแลอย่างต่อเนื่องจนถึงระยะท้าย รวมทั้งการบูรณาการงานด้านโรคมะเร็ง สร้างความร่วมมือกับเขตสุขภาพ ทั้งภาครัฐและภาคประชาชน
รพ.มะเร็ง กรมการแพทย์ได้ดำเนิน โครงการชุมชนต้นแบบนำร่องหมู่บ้านปลอดมะเร็งของตำบลพิชัย เริ่มตั้งแต่ปี 2563 – ปัจจุบัน เพื่อแก้ปัญหาสุขภาพด้านโรคมะเร็งโดยการสร้างความรู้เท่าทันสุขภาพด้านโรคมะเร็ง (Health literacy) ให้แก่ประชาชน เน้นชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสุขภาพของตนเอง “Community-Oriented Primary Care” และมีการบูรณาการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขภาครัฐ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลพิชัย รวมทั้งหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ เทศบาลตำบลพิชัย องค์การบริหารส่วนตำบลพิชัย
นพ.วีรวัต อุครานันท์ ผอ.โรงพยาบาลมะเร็งลำปาง กล่าวว่า จากการดำเนินโครงการที่ผ่านมา ได้นำร่องชุมชนต้นแบบนำร่องหมู่บ้านปลอดมะเร็งของตำบลพิชัย จำนวน 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านฝายน้อย บ้านไร่ศิลาทอง และบ้านต้นมื่น โดยแต่ละหมู่บ้านนั้นได้มีการจัดทำโครงการแก้ไขปัญหาสุขภาพด้านโรคมะเร็งที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่าง บ้านฝายน้อยได้มีการจัดตั้ง “ศูนย์เรียนรู้ด้านสุขภาพ ชุมชนต้นแบบปลอดมะเร็งตำบลพิชัย” มีพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือของทุกภาคส่วน (MOU) ระหว่างชุมชนตำบลพิชัย เทศบาลเมืองพิชัยและโรงพยาบาลมะเร็งลำปาง ในการจัดกิจกรรมการถ่ายความรู้การส่งเสริมป้องกัน การคัดกรองโรคมะเร็ง รวมทั้งการดูแลผู้ป่วย จนถึงการดูแลอย่างต่อเนื่องจนถึงระยะท้ายให้แก่ประชาชน อาสาสมัครสาธารณสุขเป็นประจำทุกเดือน เพื่อให้ประชาชนเกิดความตระหนักในการดูแลสุขภาพของตนเอง สามารถตรวจพบโรคมะเร็งและเข้าถึงการรักษาโรคมะเร็งได้อย่างรวดเร็ว
การดำเนินงานดังกล่าวนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการส่งเสริมสุขภาพเชิงรุกด้านโรคมะเร็งให้กับประชาชนในชุมชนเพื่อให้เกิดความตระหนักรู้เท่าทันในการดูแลสุขภาพ และหากประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่พบอาการผิดปกติสามารถเข้ารับบริการด้านโรคมะเร็งให้ตรวจพบรักษาไวและมีการส่งต่ออย่างเป็นระบบ ถูกต้องตามมาตรฐาน ปลอดภัยจากโรคมะเร็งสอดคล้องกับการดำเนินงานการดูแลผู้ป่วยมะเร็งตามนโยบาย “มะเร็งครบวงจร” ภายใต้กรอบแนวคิด “รู้เท่าทัน ป้องกันได้ ตรวจพบรักษาไว ปลอดภัยจากมะเร็ง”