สธ.เผยเหตุแผ่นดินไหวเมียนมา กระทบ 14 รพ. ใน 3 จังหวัด "เชียงราย" กระทบ 11 แห่ง เชียงใหม่ 2 แห่ง และสกลนคร 1 แห่ง ส่วนใหญ่เกิดรอยร้าว ไม่กระทบโครงสร้างหลัก ส่งทีมช่างเข้าตรวจสอบเพิ่มเติม เปิดบริการได้ 12 แห่ง ปิดบริการบางส่วน 2 แห่ง กรมอนามัยส่งทีมเฝ้าระวังประเมินผลกระทบอนามัยสิ่งแวดล้อม แนะ 7 วิธีช่วยรับมือเหตุแผ่นดินไหวอย่างปลอดภัย
เมื่อวันที่ 17 พ.ย. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีเกิดแผ่นดินไหวความรุนแรงขนาด 6.4 ในพื้นที่ จ.เชียงตุง รัฐฉาน ประเทศเมียนมา เมื่อช่วงเช้า ว่า การเกิดแผ่นดินไหวในครั้งนี้สามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้ถึงหลายพื้นที่ในประเทศไทย เบื้องต้นได้รับรายงานผลกระทบใน 3 จังหวัด ได้แก่ 1.เชียงราย มีหน่วยบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบ จำนวน 11 แห่ง ได้แก่ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ รพ.แม่ลาว รพ.สมเด็จพระญาณสังวร รพ.แม่จัน รพ.พาน รพ.สมเด็จพระยุพราชเชียงของ รพ.เชียงแสน รพ.พญาเม็งราย รพ.ดอยหลวง รพ.แม่ฟ้าหลวง และ รพ.แม่สาย ส่วนใหญ่พบปัญหามีรอยร้าว รอยแยกหลายจุดทั้งภายในและภายนอกอาคาร แต่ไม่ได้มีผลกระทบโครงสร้างหลัก โดย รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ปิดบริการบางส่วนที่ตึกกุมารเวช โดยย้ายผู้ป่วยไปที่ตึกสงฆ์แทน ได้กำชับให้สำรวจโครงสร้างหลักตึกสูงอย่างละเอียดโดยให้สาธารณสุขนิเทศก์และเจ้าหน้าที่กองวิศวกรรมการแพทย์ สำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพที่ 1 เชียงใหม่ ลงพื้นที่ตรวจสอบเพิ่มเติม
2.เชียงใหม่ มีรายงานความเสียหาย 2 แห่ง ที่ รพ.สันทราย อาคารมีรอยร้าวเพิ่มหลายจุด และรอยร้าวเดิมเพิ่มความยาวขึ้น และ รพ.เชียงดาว พบรอยร้าว 1 แห่งที่ห้องยา สำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพที่ 1 เชียงใหม่ จะเข้าตรวจสอบและประเมินความเสียหายเช่นกัน โดยทั้งสองแห่งเปิดบริการตามปกติ และ 3.สกลนคร ตึกอุบัติเหตุฉุกเฉิน 9 ชั้น เกิดการสั่นไหวและมีรอยร้าว ได้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากตึก และประกาศปิดบริการอาคารดังกล่าวทั้งหมด งดให้บริการผู้ป่วยนอก กรณีผู้ป่วยฉุกเฉินให้ส่ง รพ.ใกล้เคียงหรือรับบริการที่ตึกรังสีรักษาก่อนชั่วคราว เบื้องต้นทีมโยธาธิการของจังหวัดได้ตรวจสอบโครงสร้างพบว่าน่าจะไม่มีปัญหา อย่างไรก็ตาม ทีมช่างจากส่วนกลางจะเข้าตรวจสอบอีกครั้งช่วงสุดสัปดาห์นี้ สำหรับจังหวัดอื่นๆ ที่ได้รับแรงสั่นไหวแต่ไม่ได้รับผลกระทบมี 6 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง แม่ฮ่องสอน พิจิตร ชัยนาท กำแพงเพชร และอุทัยธานี
ด้าน พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์แผ่นดินไหวดังกล่าว ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยได้รับผลกระทบ เช่น ประชาชนมีอาการวิงเวียนศีรษะ อาคารสูง สถานที่ต่างๆ บ้านเรือนของประชาชน รวมถึงสถานบริการสาธารณสุขหลายแห่งได้รับผลกระทบและเกิดความเสียหายจากแรงสั่นสะเทือน เช่น รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ รพ.ศูนย์สกลนคร ทำให้ตัวอาคารมีรอยแตกร้าวขนาดใหญ่ ต้องอพยพผู้ป่วยและประชาชนออกจากพื้นที่ กรมฯ ได้มอบหมายให้ทีมปฏิบัติการทีม SEhRT ของศูนย์อนามัย ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ประเมินผลกระทบทางสุขภาพและความเสียหายด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมในสถานบริการสาธารณสุขที่เสียหายและชุมชน ได้แก่ ความปลอดภัยอาคาร ระบบออกซิเจน ระบบไฟฟ้าและไฟฟ้าสำรอง ระบบสาธารณูปโภค ระบบบำบัดน้ำเสีย และเร่งเฝ้าระวังด้านสุขาภิบาล เช่น การปนเปื้อนสารเคมีในน้ำจากระบบบำบัดน้ำเสียโรงพยาบาลที่เสียหาย การปนเปื้อนของฝุ่นละอองที่เกิดจากอาคารพังทลายเสียหาย เป็นต้น
สำหรับประชาชนให้เร่งสื่อสารสร้างความรอบรู้เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน คือ 1.ติดตาม รับฟังข่าวสารจากหน่วยงานภาครัฐ เมื่อเกิดเหตุให้ตั้งสติ และเตรียมพร้อมอพยพ 2.กรณีอาศัยอยู่ภายในบ้านให้หมอบลงที่พื้นใต้โครงสร้างอาคารแข็งแรง ป้องกันสิ่งของจากเพดานหรือที่สูงหล่นใส่ 3. กรณีเปิดแก๊สประกอบปรุงอาหาร ให้หยุดการทำกิจกรรมดังกล่าว และปิดแก๊สโดยทันที 4.กรณีอยู่ในอาคารสูง คอนโด อพาร์ตเมนต์ให้เตรียมอพยพ หากมีความรุนแรงต่อเนื่อง ให้รีบออกจากอาคารทันที โดยใช้ทางหนีไฟ ห้ามใช้ลิฟท์โดยสารเด็ดขาด เมื่อพ้นจากอาคารให้ออกไปให้ห่างจากตัวอาคารให้มากที่สุด และต้องคำนึงถึงบุคคลในบ้านที่เป็นกลุ่มเปราะบาง กลุ่มเสี่ยงทางสุขภาพควรเตรียมหาทางพาออกจากพื้นที่โดยเร่งด่วน
5.ออกห่างจากหน้าต่าง และประตู โดยเฉพาะกระจก ป้องกันอันตราย และลดความเสี่ยงการบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตจากกรณีตัวโครงสร้างที่ถูกทำลายจากแผ่นดินไหวรุนแรง 6.กรณีที่อยู่นอกตัวอาคารอยู่แล้ว ห้ามเข้าไปในอาคาร และสังเกตจุดที่ยืนหลบภัย ต้องไม่มีสิ่งปลูกสร้างสูง ป้ายโฆษณา ต้นไม้ เสาไฟฟ้า โดยรอบ เพื่อป้องกันการถล่มหรืออุบัติเหตุ และ 7.เตรียมเก็บสิ่งของที่จำเป็นให้พร้อม สามารถหยิบออกมาได้ทันที
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์การเกิดแผ่นดินไหวอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ให้ดูแลและเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ให้สังเกต ทำความคุ้นเคยทางออกฉุกเฉิน หรือทางหนีไฟที่ใกล้ตัวที่สุด หากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวจะได้สามารถหนีออกมาได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย ลดความเสี่ยงการสูญเสีย บาดเจ็บ และเสียชีวิต