"ชลน่าน" มอบปลัด สธ.ตั้ง "กองทุนมะเร็ง" พูลงบร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ยันไม่ซ้ำซ้อนกับกองทุนมะเร็งบัตรทอง ดูแลทั้งสามสิทธิ ใช้งบร่วมกันขับเคลื่อนงานมะเร็งครบวงจร เริ่มต้นปี 68 ส่วนปี 67 บูณณาการช่วงงบขาลง ส่วนสิทธิแมมโมแกรม กำลังเข้าสู่ คกก.สิทธิประโยชน์
เมื่อวันที่ 17 พ.ย. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการเตรียมตั้งกองทุนมะเร็งครอบคลุมทุกสิทธิรองรับนโยบายมะเร็งครบวงจร ว่า เมื่อจะสู้กับมะเร็ง นอกจากเรื่องคน เรื่องงบประมาณก็มีส่วนสำคัญ จึงต้องมีงบมารองรับ ซึ่งการใช้จ่ายงบประมาณรายปีอาจไม่สอดรับอย่างเพียงพอ จึงจำเป็นต้องมีกองทุนเกิดขึ้น โดยเรื่องนี้รายละเอียดจะมอบให้ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ.ดำเนินการ แต่วัตถุประสงค์หลักเพื่อนำมาใช้จ่ายรองรับนโยบายมะเร็งครบวงจร ทั้งการรณรงค์ ให้ความรู้การส่งเสริมป้องกันโรค การคัดกรองต้องมีการดำเนินการมากขึ้น การดูแลรักษาฟื้นฟู เป็นต้น
นพ.โอภาส กล่าวว่า เนื่องจากหน่วยงานรักษามะเร็งมีจำนวนมาก ที่ดำเนินการทั้งการป้องกัน รักษาฟื้นฟู วิจัยต่างๆ ดังนั้น เรื่องมะเร็งจึงมีหลายหน่วยงานดำเนินงาน ทั้ง สธ. มหาวิทยาลัย ฯลฯ จึงมีแนวคิดว่า หากสามารถเอางบประมาณมาเป็นองค์รวม โดยหากใครจำเป็นต้องใช้เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลก็ให้ใช้ตรงนี้ ส่วนรูปแบบกำลังหารือกันอยู่ อาจจะใช้รูปแบบของ สปสช. หรือรูปแบบที่แยกต่างหาก หรือรูปแบบการตั้งงบประมาณแบบบูรณาการ
ถามว่าโดยปกติ สปสช.มีกองทุนดูแลเรื่องมะเร็งอยู่แล้วจะซ้ำซ้อนหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า คงไม่ซ้ำซ้อน แต่ต้องมาหารือรูปแบบที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดประโยชน์และเป็นไปตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนการหารือ
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เราต้องการให้เกิดการบูรณาการกันมากขึ้น เพราะมีหลายหน่วยงาน ที่ต้องรับผิดชอบ กระจัดกระจายกันไป แต่ละฝ่ายก็จะมีการตั้งงบของตนเอง เวลานำมาพูลกันก็อาจจะเหมือนกองทุน แต่รูปแบบอาจไม่ใช่เหมือนกองทุนทั่วไป แต่เป็นกองทุนเพื่อนำมาใช้ขับเคลื่อนนโยบายนี้จากทุกภาคส่วน ไม่ใช่เฉพาะ สธ.
ถามย้ำว่ากองทุนนี้จะรองรับทั้งสามกองทุน คือ บัตรทอง ข้าราชการและประกันสังคม นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ใช่ ถามอีกว่าต้องใช้งบประมาณเบื้องต้นเท่าไร ราวพันล้านบาทได้หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ต้องไปดูตัวเลขฐานที่เราคิดจากเดิม และเติมกิจกรรมเข้ามา ต้องมาดูว่าแต่ละส่วนตั้งงบเท่าไรอย่างไร อย่างหากจะบูรณาการก็ต้องมาพิจารณาว่า อันไหนจะปรับลดได้ อันไหนจะใช้ร่วมกันก็ต้องมาพิจารณาก่อน ยังให้ตัวเลขไม่ได้
เมื่อถามว่าจะแล้วเสร็จเป็นรูปธรรมเมื่อไร นพ.ชลน่าน กล่าวว่า จริงๆ เป็นงบประมาณประจำปีอยู่แล้ว เช่น กรณีงบประมาณปี 2567 ตั้งไม่ทันเพราะแผนเข้าสู่กระบวนการแล้ว ขาขึ้นขึ้นไปแล้ว เพียงแต่ขาลงอาจต้องมาคุยกันว่า แต่ละส่วนที่มีงบรองรับมะเร็งครบวงจร จะบูรณาการอย่างไร นี่คือขาลง ส่วนปีงบประมาณ 2568 อาจต้องคุยกันก่อนว่าขาขึ้นจะใช้วิธีการตั้งงบร่วมกันหรือไม่ อย่างไร หากต้องตั้งงบบูรณาการร่วมกัน ทางสำนักงบฯเห็นควร ก็อาจต้องมีหน่วยงานหลักทำเพื่อเสนอขึ้นมา เหมือนการจัดทำแผนงบบูรณาการของหน่วยงานอื่นๆ
ผู้สื่อข่าวถามว่าเรื่องนี้ต้องเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ (ซูเปอร์บอร์ด) ที่นายกฯเป็นประธานหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ควรต้องเสนอ เพราะมีความรับผิดชอบหลายหน่วยงานเกี่ยวข้อง
ถามต่อถึงกรณีการพิจารณาเพิ่มสิทธิตรวจ “แมมโมแกรม” ในชุดสิทธิประโยชน์ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า อยู่ในขั้นตอนนำเสนอ เรื่องนี้เคยเสนอเลขาธิการ สปสช. กำลังเข้าสู่คณะกรรมการสิทธิประโยชน์ อย่างไรก็ตาม การคัดกรองทั่วไปยังไม่ได้ให้สิทธิตรวจด้วยแมมโมแกรม เราก็กำลังพิจารณาเพิ่มเข้าไป อย่างที่ผ่านมามูลนิธิกาญจนบารมี ที่มีรถโมบายเคลื่อนที่กระจาย 4 ภูมิภาคเมื่อเข้าไปรณรงค์มีคนสนใจตรวจแมมโมแกรมนั้น ยังต้องใช้เงินของมูลนิธิฯ เพราะใช้เงิน สปสช.ไม่ได้ เพราะยังไม่ได้ผ่านการรับรองให้ตรวจได้ จึงอยู่ในขั้นตอนดำเนินการ