รมช.สธ.เผยไทยมีส้วมใช้ 99.8% ยังไม่มีอีก 4 หมื่นครัวเรือน เหตุอยู่ห่างไกล พื้นที่ยากลำบาก พื้นที่ริมน้ำ ห่วงกลุ่มบ้าน-ตลาดริมน้ำ เรือแพ มีส้วมแต่ปล่อยทิ้งลงแม่น้ำลำคลอง ทำเชื้อโรคกระจาย หนุนต่อท่อขึ้นฝั่ง ลดกระจายเชื้อ
เมื่อวันที่ 16 พ.ย. นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเปิดงานรณรงค์วันส้วมโลก ประจำปี 2566 (World Toilet Day 2023) ว่า ปัจจุบันมีผู้คนกว่า 3,500 ล้านคนทั่วโลก ยังไม่มีเข้าถึงสุขาภิบาลอย่างปลอดภัย องค์การสหประชาชาติจึงกำหนดให้วันที่ 19 พ.ย.ของทุกปีเป็น "วันส้วมโลก" โดยประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติมีการจัดงานวัดส้วมโลกประจำปีมาตั้งแต่ปี 2556 เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการดำเนินงาน รับมือกับวิกฤตด้านสุขาภิบาลทั่วโลก และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 6 การสร้างหลักประกันเรื่องน้ำและการสุขาภิบาล ให้มีการจัดการอย่างยั่งยืนและมีสภาพพร้อมใช้สำหรับทุกคน บรรลุเป้าหมายย่อย 6.2 ให้ทุกคนเข้าถึงการสุขาภิบาลและสุขอนามัยที่พอเพียง เป็นธรรม และยุติการขับถ่ายในที่โล่งภายในปี 2573 โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อความต้องการของผู้หญิง เด็กหญิง และกลุ่มเปราะบาง
“วันส้วมโลกปี 2566 หัวข้อรณรงค์ คือ “Accelerating change” หรือการเร่งรัดการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากทั่วโลกประสบวิกฤตด้านสุขาภิบาล การแก้ไขปัญหาดังกล่าวยังล่าช้า และไม่ได้ปฏิบัติตามแนวทางเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเคร่งครัด จึงเร่งรัดเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาด้านสุขาภิบาลให้เพียงพอปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ การดำเนินงานจะประสบผลสำเร็จได้ต้องอาศัยจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน หน่วยงานต่าง ๆ และภาคประชาชน” นายสันติ กล่าว
นายสันติกล่าวว่า ประเทศไทยกำหนดแนวทางการดำเนินการปีนี้ คือ “เร่งรัด พัฒนาส้วมไทย ปลอดโรค ปลอดภัย ใส่ใจดูแล” ส่งเสริมการมีและใช้ส้วมของครัวเรือนมากว่า 60 ปี พบว่า ปัจจุบันครัวเรือนไทยมีส้วมใช้ร้อยละ 99.8 และยังไม่มีส้วมอีกร้อยละ 0.2 หรือประมาณ 44,000 ครัวเรือน ซึ่งเป็นครัวเรือนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล พื้นที่ยากลำบาก หรือพื้นที่ริมน้ำ จึงต้อง “เร่งรัดพัฒนาส้วมไทย” ให้เหมาะสมเพื่อให้เข้าถึงการมีและใช้ส้วมอย่างเท่าเทียม นอกจากนี้ คนในยุคปัจจุบันมีการใช้ชีวิตนอกบ้าน เดินทางไปท่องเที่ยวยังสถานที่ต่างๆ มากขึ้น จึงต้องมีการพัฒนาส้วมสาธารณะให้เหมาะสม ถูกสุขลักษณะ สามารถรองรับการใช้บริการตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างครอบคลุม ส่งผลต่อภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ
“การพัฒนาสุขาหรือส้วมไทยในหลายสิบปี พบว่าพัฒนาได้มาตรฐาน ยังขาดในพื้นที่ห่างไกล ชนบทเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ได้ตระหนักถึงความสำคัญเรื่องส้วมเป็นจำนวนมาก เห็นได้จากเวลามีการจัดงานต่างๆ จะมีการนำรถสุขาเคลื่อนที่มาให้บริการกับประชาชน นั่นหมายความว่า ประเทศไทยเอาใจใส่เรื่องสุขาเพื่อป้องกันการระบาดของโรคทำให้ประชาชนมีสุขอนามัยที่ดี” นายสันติ กล่าวและว่า ส่วนในพื้นที่ห่างไกลหรือบ้านเรือนตั้งอยู่ริมน้ำ ตลาดริมน้ำ และเรือแพที่อยู่ในแม่น้ำลำคลอง แม้จะมีส้วม แต่ส่วนใหญ่ปล่อยสิ่งปฏิกูลทิ้งลงในแหล่งน้ำ ทำให้เกิดการกระจายของเชื้อโรค ถ้ามีการดูแลรณรงค์ให้สามารถต่อท่อมาบนแผ่นดินเพื่อเข้าระบบกำจัดที่ถูกวิธีก็จะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนและลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้