xs
xsm
sm
md
lg

2 หมอสหรัฐฯ คว้ารางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลปี 66 สกัดโปรตีนสู่ผลิต "ยามะเร็ง" - ประเมินพิษยาพาราฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



2 แพทย์สหรัฐฯ คว้ารางวัล "สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล" ปี 2566 “นาโปเลโอเน เฟอร์รารา” วิจัย–สกัดโปรตีนวีอีจีเอฟ สู่การผลิตยารักษามะเร็งและโรคตา ด้าน “แบร์รี่ เอช. รูแมค” สร้างเครื่องมือประเมิน “พิษยาพาราฯ” นำไปสู่การวางเกณฑ์รักษามาตรฐานสากล

เมื่อวันที่ 16 พ.ย. ที่ รพ.ศิริราช ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ในฐานะรองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วย นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ฯ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ประธานคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกันแถลงผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ครั้งที่ 32 ประจำปี 2566

สำหรับมีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2566 ทั้งสิ้น 92 ราย จาก 31 ประเทศ คณะกรรมการมีมติตัดสินให้ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ สาขาการแพทย์ คือ ศ.นพ.นาโปเลโอเน เฟอร์รารา (Napoleone Ferrara, M.D.) ศาสตราจารย์พิศิษฐ์ ภาควิชาจักษุวิทยาและพยาธิวิทยา รอง ผอ.อาวุโสด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ศูนย์มะเร็งมัวรส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียแซนดิเอโก มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา/อิตาลี ส่วนสาขาการสาธารณสุข คือ ศ.นพ.แบร์รี่ เอช. รูแมค (Barry H. Rumack, M.D.) ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สาขากุมารเวชศาสตร์ และเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคโลราโดสหรัฐอเมริกา โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2566 ในวันที่ 24 ม.ค. 2567 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท


ทั้งนี้ ศ.นพ.นาโปเลโอเน เฟอร์รารา เป็นผู้ค้นพบและสกัดโปรตีนวีอีจีเอฟ ที่มีฤทธิ์เป็นสารกระตุ้นการแบ่งตัวของเซลล์เยื่อบุผนังหลอดเลือด จึงทำการศึกษาทั้งด้านชีวเคมีและชีววิทยาโมเลกุลของโปรตีนวีอีจีเอฟ รวมถึงตัวรับโปรตีนวีอีจีเอฟชนิดต่าง ๆ และกลไกในการกระตุ้นการสร้างหลอดเลือดใหม่ทั้งในภาวะปกติ และภาวะที่เกิดพยาธิสภาพ ที่สำคัญคือโรคมะเร็งบางชนิด และโรคศูนย์กลางจอตาเสื่อมจากอายุ หรือโรคเอเอ็มดี ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าวนำไปสู่การพัฒนายาชนิดแอนติบอดีต่อโปรตีนวีอีจีเอฟ ได้แก่ ยาบีวาซิซูแมบ (เอวาสติน) รักษาผู้ป่วยมะเร็งระยะที่มีความรุนแรงร่วมกับมีการสร้างหลอดเลือดอย่างหนาแน่น ได้แก่ มะเร็งสมอง มะเร็งปอด มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ และมะเร็งลำไส้ นอกจากนี้ยังเป็นองค์ประกอบในการผลิตยายารานิบิซูแมบ (ลูเซนติส) ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุที่ป่วยโรคเอเอ็มดีด้วย ผลสำเร็จจากการศึกษาเกี่ยวกับโปรตีนวีอีจีเอฟและการรักษาด้วยยาแอนติบอดีต่อโปรตีนวีอีจีเอฟถูกนำไปใช้รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง และโรคตาอย่างกว้างขวาง เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัยของผู้ป่วยหลายล้านคนทั่วโลก


ศ.นพ. แบร์รี่ เอช. รูแมค เป็นผู้มีความสนใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับเภสัชวิทยาและพิษวิทยาของยาพาราเซตามอล ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะตับวายเฉียบพลัน 40-70% ของผู้ป่วยทั่วโลก โดยรวบรวมผู้ป่วยจากพิษยาพาราฯ เกินขนาด 64 กรณี มาสร้างภาพกราฟ และประดิษฐ์เป็นเครื่องมือประเมินความเสี่ยงและวินิจฉัยผู้ป่วยภาวะพิษจากยาพาราฯ เฉียบพลันที่เรียกว่า Rumack–Matthew Nomogram ตีพิมพ์ในปี 2518 และใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลกมาจนถึงปัจจับัน เพื่อช่วยให้แพทย์ วินิจฉัยและรักษาภาวะพิษจากพาราฯ เกินขนาดแบบเฉียบพลันได้อย่างเหมาะสม นำมาสู่แนวทางการรักษาที่เป็นมาตรฐานสากลในการรักษาภาวะพิษจากพาราฯ และยังประยุกต์ใช้เครืองมือนี้ร่วมกับประสิทธิภาพของยาเอ็น อะซิติลซิสเตอีน (N-acetylcysteine) ต้านพิษ ช่วยลดภาวะตับอักเสบชนิดรุนแรงจากพาราฯ ลดอุบัติการณ์จาก54% เหลือเกือบ 0% นอกจากนี้ ศ.นพ.แบร์รี่ เอช. รูแมค ยังเป็นผู้พัฒนาและบุกเบิกการใช้ Poisindex ซึ่งเป็นฐานข้อมูลดิจิทัลทางด้านพิษวิทยาคลินิก ที่ใช้อ้างอิงในการรักษาผู้ป่วยด้วยข้อมูลที่แม่นยำและทันสมัยในโรงพยาบาลและศูนย์พิษวิทยาทั่วโลก สร้างคุณประโยชน์ช่วยชีวิตมนุษยชาติจำนวนมาก


กำลังโหลดความคิดเห็น