xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ด สปสช.เห็นชอบตั้ง คณะอนุฯ บริหารหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น ดึงปลัด มท.ประธาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บอร์ด สปสช. เห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุฯ ขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น มีปลัด มท.ประธาน หนุน อปท.บริหารจัดการ สร้างการมีส่วนร่วมดูแลสุขภาพคนในท้องถิ่น ทำข้อเสนอสิทธิประโยชน์ ชง "ชลน่าน" ลงนามแต่งตั้งต่อไป

เมื่อวันที่ 16 พ.ย. นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ที่ประชุมบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบข้อเสนอการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ซึ่งจะมีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นรองประธาน มีรองหรือผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. เป็นเลขานุการ และรองอธิบดีกรมการปกครองท้องถิ่น เป็นผู้ช่วยเลขานุการ ขณะที่อนุกรรมการจะประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงบประมาณ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผู้แทนองค์กรภาคเอกชน ฯลฯ รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ เช่น นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ ศ.บรรเจิด สิงคเนติ เป็นต้น

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวจะทำหน้าที่จัดทำหรือทบทวนกฎ ว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงาน สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) องค์กรชุมชน องค์กรเอกชนและภาคเอกชนที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาผลกําไร เป็นผู้ดำเนินการและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมตามความพร้อม ความเหมาะสมและความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น เพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพให้แก่บุคคลในพื้นที่ตามมาตรา 47 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมถึงจะจัดทำข้อเสนอด้านสิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น ติดตามประเมินผลการดำเนินงาน และข้อเสนอการพัฒนาที่ต่อเนื่อง

“ขั้นตอนต่อไป บอร์ดได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายพิจารณาร่างคำสั่งและเสนอให้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการ สธ. ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งต่อไป ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้จะเป็นกลไกสำคัญในการขับคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นที่กระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศให้บรรลุผลสำเร็จ” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

สำหรับหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ เป็นนวัตกรรมทางสังคมในระบบสุขภาพของไทย ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมการดูแลสุขภาพของประชาชนจากหลายภาคส่วน มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ประสานหน่วยงาน องค์กร และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ให้เข้ามาร่วมค้นหาปัญหาและความต้องการด้านสุขภาพของประชาชน วางแผนและส่งเสริมให้เกิดการร่วมดำเนินกิจกรรมด้านสุขภาพ ติดตามประเมินผลการดำเนินงานให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมกับประชาชน


กำลังโหลดความคิดเห็น