xs
xsm
sm
md
lg

เปิด 9 สาขา 3 ศาสตร์ "ประกอบโรคศิลป์" อ.เอก ฝ่ามือพลังจิต ไม่เข้าข่าย สบส.ชี้เป็น "หมอเถื่อน-สถานพยาบาลเถื่อน" ชง ตร.เรียกตัวสอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สบส.ย้ำ ศูนย์ อ.เอก ฝ่ามือพลังจิต เข้าข่ายสถานพยาบาลเถื่อน โทษคุกไม่เกิน 5 ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท ประสาน ตร.เรียกตัวสอบสวน ชี้วิธีรักษาไม่เข้าข่ายประกอบโรคศิลป์ทั้ง 9 สาขา 3 ศาสตร์ที่มี เข้าข่าย "หมอเถื่อน" แจงศาสตร์ใหม่ก่อนรักษาต้องยื่น คกก.ประกอบโรคศิลป์พิจารณา ชง รมต.สธ. ประกาศ หากไปทาง "หมอพื้นบ้าน" ต้องได้รับถ่ายทอดมาจากครูบาอาจารย์ ไม่เก็บเงินเชิงธุรกิจ

เมื่อวันที่ 16 พ.ย. ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ให้สัมภาษณ์ถึงการเอาผิดนายกีรติ สมคิด (อ.เอก ฝ่ามือพลังจิต) ที่เปิดสอนและรักษาด้วยพลังจิต ใช้ตบถีบเหยียบรักษาผู้ป่วย ใน 3 ข้อหา ว่า หลังจากลงไปตรวจสถานที่ที่ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา พบว่าได้มีการปิดศูนย์พลังจิต ซึ่งทราบว่าก่อนหน้านี้มีการสอนและเอาคนมารักษาไปด้วย ในตัว ซึ่งจากการตรวจสอบแล้ว เข้าข่ายผิด พ.ร.บ.สถานพยาบาล เนื่องจากมีการให้การรักษา เข้าข่ายปรพกอบวิชาชีพเวชกรรมในสถานที่ไม่ได้รับอนุญาต จึงถือเป็นสถานพยาบาลเถื่อน เช่นเดียวกันเมื่อมีภาพของการกระทำต่อมนุษย์ ทั้งการตรวจโรค บำบัดต่างๆ ก็เข้าข่ายประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ก็มีความผิดฐานเป็นหมอเถื่อน ตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม และยังมีการใช้กรรมวิธีของแพทย์แผนไทยหรือยาต่างๆ ที่เป็นการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร พบน้ำมันเป็นหลอดๆ ขวดเล็กๆ ก็สันนิษฐานว่ามีการทาน้ำมันพวกนี้ ถือว่าเป็นการบำบัดด้วยแพทย์แผนไทย โดยไม่ได้เป็นแพทย์แผนไทย ก็ตั้งข้อหาของการประกอบผิดวิชาชีพแพทย์แผนไทย ตาม พ.ร.บ.วิชาชีพแพทย์แผนไทย


ถามว่าต้องมีการเรียกตัวมาสอบสวนเอาผิดหรือไม่ นพ.ภานุวัฒน์กล่าวว่า เบื้องต้นเองจากประเด็นข้อหาที่เป็นสถานพยาบาลเถื่อน ข้อหามีโทษสูงคือ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งต้องแจ้งความพนักงานสอบสวน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเชิญทางทีมงานของ อ.เอก ฝ่ามือพลังจิตมาให้ข้อมูล โดยที่ สบส. เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายร้องทุกข์

เมื่อถามย้ำว่าต้องมีการปิดสถานที่รักษานั้นเลยหรือไม่ นพ.ภานุวัฒน์กล่าวว่า เราออกคำสั่งปิดไม่ได้ เพราะไม่ได้ขออนุญาตเปิดเป็นสถานพยาบาลอยู่แล้ว ซึ่งเราดำเนินการแจ้งความตรงนี้ไป ส่วนของสถานที่นั้นพนักงานสอบสวนก็คงสั่งระงับ เนื่องจากเขาเช่าพื้นที่โรงแรม


ถามถึงกรณี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า กรณี อ.เอก ไม่เข้าข่ายการประกอบโรคศิลปะหลายสาขา ขณะนี้มีสาขาอะไรบ้าง และหากจะนำศาสตร์ใหม่เข้ามาสู่การประกอบโรคศิลปะตามกฎหมายต้องทำอย่างไร นพ.ภานุวัฒน์กล่าวว่า การประกอบโรคศิลปะมี 9 สาขา ได้แก่ 1.กิจกรรมบำบัด 2.การแก้ไขความผิดปกติของการสื่อความหมาย 3.กายอุปกรณ์ 4.จิตวิทยาคลินิก 5.เทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก 6.รังสีเทคนิค 7.การแพทย์แผนจีน 8.การกำหนดอาหาร และ 9.ฉุกเฉินการแพทย์ ซึ่งลักษณะการกระทำของ อ.เอก กับทีมงาน เราพิจารณาแล้วว่า ไม่เข้าข่ายการประกอบโรคศิลปะสาขาที่มีอยู่เดิม และศาสตร์ที่มีอยู่ 3 ศาสตร์ คือ 1.ไคโรแพรคติก 2.ทัศนมาตรศาสตร์ และ 3.ศาสตร์ฟิสิกส์การแพทย์

"ศาสตร์ใหม่ต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นองค์ความรู้จากต่างประเทศ ก่อนจะประกอบโรคศิลป์ได้ จะต้องเสนอคณะกรรมการประกอบโรคศิลปะ พิจารณาเพื่อเสนอแนะรัฐมนตรีว่าการ สธ.ลงนามประกาศเป็นศาสตร์ อย่างทัศนมาตรศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งการพิจารณาก็จะต้องยึดหลักว่า องค์ความรู้นั้นมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ มีการศึกษาวิจัยรองรับ ได้รับการยอมรับจากวงการแทพย์และสาธารณสุข ว่ามีมาตรฐาน มีความปลอดภัย และได้ผลในการรักษาบำบัดจริงๆ มีสถาบันที่ผลิตบุคลากรเหล่านี้ที่ได้รับการรับรองที่มีมาตรฐานด้านการศึกษา มีหลักสูตรการเรียนการสอน ไม่ใช่อยู่ๆ ใครก็ทำขึ้นมาเองได้" นพ.ภานุวัฒน์กล่าว

นพ.ภานุวัฒน์กล่าวว่า ถ้าด้วยฝ่ามือพลังจิตตรงนี้ ยังไม่สามารถเสนอให้มายื่นขอเข้าข่ายตาม พ.ร.บ.การประกอบโรคศิลปะได้ ส่วนจะไปในทางเป็นหมอพื้นบ้านนั้น กลุ่มนี้ก็ต้องได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้จากครูบาอาจารย์ที่ถ่ายทอดกันมาในชุมชน แล้วไปขอขึ้นทะเบียนกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แต่ที่สำคัญคือหมอพื้นบ้านทำการเก็บเงินรักษาในเชิงธุรกิจไม่ได้ ขณะที่จะเป็นการแพทย์ทางเลือก ทางรองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกก็ระบุว่า ไม่เข้าข่ายการแพทย์ทางเลือกตามกฎหมาย เพราะ "พลังจิต" ไม่มีใครรับรู้พิสูจน์ได้ แต่ในแง่ความเป็นไปได้ ถ้าดูจากพฤติกรรมพฤติการณ์ก็ไม่ค่อยน่าเชื่อถือ เอามือแตะๆ บางคนแล้วบอกหายได้ แล้วจริงหรือที่พอถ่ายทอดพลังจิตใครมาเรียนก็รักษาได้เลย จึงอยากให้ประชาชนตระหนักว่า แม้เราจะมีความเชื่อส่วนบุคคล แต่อยากให้ใช้วิจารณญาณมองถึงความเป็นไปได้ ที่สำคัญคือไม่ทิ้งแนวทางการรักษาที่ถูกต้อง ถ้ามีโรคทางกายก็ไปหาหมอ แต่ถ้าจะไปพึ่งพาทางจิตวิญญาณประกอบด้วย ก็ไม่ควรละเลยหรือไม่รักษาทางการแพทย์เลย เพราะอาจทำให้โรคเป็นมากขึ้นหรือเกิดภาวะแทรกซ้อน


กำลังโหลดความคิดเห็น