เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2566 ที่กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ พม. กรุงเทพมหานคร มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย) องค์การยูนิเซฟ และภาคีเครือข่าย จัดเวทีสานพลังเพื่อคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2 “สานพลังผู้ทำงานด้านการคุ้มครองและความปลอดภัยในเด็ก” นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า วันเด็กสากล (World Children Day) 20 พ.ย. และครบรอบ 31 ปี ที่ไทยเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เป็นโอกาสดีที่ทุกฝ่ายจะได้ทบทวนและวางแผนการทำงานด้านเด็กและเยาวชน สำหรับ กทม. ได้ประกาศนโยบายส่งเสริมสิทธิเด็ก การคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยรอบด้านของเด็ก ในเดือน พ.ย. 2565 เน้นย้ำว่าสิ่งสำคัญและมีค่าที่สุดของกรุงเทพฯ ไม่ใช่ถนน หรือตึก แต่คือเด็กทุกคนที่ต้องมารับช่วงต่อดูแลเมืองนี้ กทม. จึงลงทุนและสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมให้เด็กได้รับการคุ้มครอง ดูแลให้เติบโต พัฒนา มีพื้นที่แสดงศักยภาพ ความสามารถ ความคิดเห็น และมีส่วนร่วมกับ กทม. อย่างมีความหมาย
“กทม. ดำเนินการเรื่องนี้หลายประเด็น เช่น ผ่อนปรนเรื่องเครื่องแบบ ทรงผมให้นักเรียนโรงเรียนสังกัด กทม. ทำให้บรรยากาศการมาโรงเรียนดีขึ้น มีการศึกษาทรัพยากรและระบบ กลไกการช่วยเหลือคุ้มครองเด็กของ กทม. ให้ดีขึ้น รวมถึงการจัดสรรงบประมาณ โครงการในสำนักที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักพัฒนาสังคม สำนักอนามัย สำนักการแพทย์ สำนักการศึกษาและสำนักวัฒนธรรมฯ การขยายการทำงานคุ้มครองเด็กระดับชุมชนร่วมกับภาคีเครือข่ายไปยัง 21 ชุมชน ใน 11 เขต อีกส่วนหนึ่งคือการพัฒนานโยบายปกป้องเด็ก (Child Safeguarding Policy) จะประกาศใช้ใน 437 โรงเรียน และ 271 ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัย รวมทั้งสำนักที่เกี่ยวข้องภายในปี 2569 เป็นก้าวแรกที่จะทำให้เกิดกลไกการปกป้องคุ้มครองเด็กแบบบูรณาการ เป็นเอกภาพ ไร้รอยต่อ และวันนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ผู้ทำงานด้านเด็ก มาร่วมกันออกแบบระบบการดูแลช่วยเหลือเด็กทั้งกระบวนการ” นายเฉลิมพล กล่าว
น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. กล่าวว่า สสส. ขับเคลื่อนงานด้านคุ้มครองและความปลอดภัยในเด็ก 3 ระดับ 1. ทำพื้นที่ Sandbox ทดสอบนวัตกรรม พัฒนารูปแบบการทำงานในชุมชน เน้นครอบครัวเปราะบาง เช่น ในชุมชนแออัด พื้นที่ริมคลอง ใต้สะพาน พบปัญหาการเข้าถึงสิทธิ สวัสดิการต่าง ๆ สร้างกลไกระดับชุมชน เพื่อเข้าถึงเด็กทุกบ้านรายบุคคล สร้างดิจิทัลแพลตฟอร์ม “เติมเต็ม” รองรับการทำงานของทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องแบบไร้รอยต่อ 2. ทำกลไกคณะทำงานร่วมกับส่วนงานต่าง ๆ ของ กทม. ส่วนราชการ และภาคีเครือข่าย โดยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมติดตามความก้าวหน้าการทำงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 3. ระดับนโยบาย มีคณะกรรมการพิจารณาขยายผลกลไก นวัตกรรมที่ผ่านการทดลอง ปีนี้ ตั้งเป้าขยายผลแพลตฟอร์ม “เติมเต็ม” นำร่องครบทั้ง 6 โซนของ กทม. โซนละ 1 เขต
“กทม. เป็นพื้นที่ท้าทาย เหมือนเต็มไปด้วยโอกาส แต่ผลสำรวจจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบภาวะความอยู่ดีมีสุขของเด็ก กทม. ด้อยกว่าภูมิภาคหลายด้าน เช่น ไม่ได้รับวัคซีน มีฐานะยากจน มีบ้านที่ไม่มีหนังสือนิทาน หรือมีน้อยกว่า 3 เล่ม จำนวนมากกว่าต่างจังหวัด ได้เข้าศูนย์เด็กเล็กน้อยกว่า โภชนาการมีปัญหา ขณะเดียวกันแม้มีหน่วยงานระดับชาติ กระทรวง กรมต่าง ๆ อยู่ใน กทม. แต่ไม่มีความร่วมมือเป็นระบบ สสส. จึงเปิดเวทีสานพลังภาคส่วนต่าง ๆ เน้นกลยุทธ์การทำงานโดยไม่มีรอยต่อ งานนี้ เป็นเวทีใหญ่สุด หลังขับเคลื่อนการดำเนินงานมาเกือบ 2 ปี เพื่อรับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอต่อการพัฒนา กลไกคุ้มครอง ช่วยเหลือ ส่งต่อ เด็ก ใน กทม. ไม่ให้มีเด็กหลุดจากระบบการช่วยเหลือ” น.ส.ณัฐยา กล่าว
นางอภิญญา ชมภูมาศ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน พม. กล่าวว่า ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กเมื่อปี 2535 กรมกิจการเด็กและเยาวชน นำวิสัยทัศน์ด้านการคุ้มครองเด็กมาปรับใช้กำหนดนโยบาย หรือแผนปฏิบัติการร่วมกับหน่วยงานด้านการคุ้มครองเด็กที่เกี่ยวข้อง คือ 1. ยกร่างแผนปฏิบัติการด้านการคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2566 – 2570 มุ่งเตรียมความพร้อมและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเด็ก ครอบครัว และชุมชน ในด้านเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ และสภาพแวดล้อม รวมถึงแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำจากรุ่นสู่รุ่น การคุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์ เป็นต้น 2. ส่งเสริมกลไกระดับท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็งในการทำงานเชิงรุก เพื่อเฝ้าระวังและจัดการปัญหาด้านเด็กและเยาวชน โดยการคัดกรองและสำรวจเด็กที่มีความเสี่ยง ให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้า ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตในระยะยาว
“กรมฯ ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองและความปลอดภัยในเด็กในกรุงเทพมหานคร ตระหนักว่า เด็กทุกคนไม่ว่าอยู่ในพื้นที่ใดต้องได้รับการดูแลปกป้องและคุ้มครอง กรุงเทพฯ เป็นสังคมที่มีความหลากหลาย ทั้งเชิงพื้นที่ เช่น ชุมชนก่อสร้าง ชุมชนใต้สะพาน การอพยพย้ายถิ่นจากต่างจังหวัดสู่เมือง แม้บริการที่มีอยู่จำนวนมาก แต่มีข้อจำกัดในการเชื่อมโยงระหว่างประชาชนและหน่วยงานระดับพื้นที่ รวมถึงโครงสร้างและระบบการช่วยเหลือ ส่งต่อมีความเฉพาะ เนื่องจากเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่มีประชากรจำนวนมากและมีความซับซ้อน ดังนั้น นอกจากต้องกำหนดแนวทางการทำงานและการให้ความช่วยเหลือเด็ก ต้องสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เครือข่ายในพื้นที่ และชุมชนเพื่อให้สามารถช่วยดูแลเด็กในชุมชน ป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ผ่านการสนับสนุนกลไกเดิมที่มีอยู่ เช่น อาสาสมัครศูนย์บริการสาธารณสุข (อสส.) อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ในการคัดกรองเด็กและครอบครัว ประเมินความเสี่ยง เข้าถึงตัวเด็กก่อนเกิดปัญหารุนแรง ประสานส่งต่อบริการ และกำหนดหน่วยงานหลักทำหน้าที่สนับสนุนบริการและการกำกับติดตามด้วย” อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าว
น.ส.วรางคณา มุทุมล ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์และคุณภาพโครงการ มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปัญหาเด็กในเมืองมีความซับซ้อน ครัวเรือนที่มีเด็กยังเผชิญความท้าทายหลายด้าน รวมถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและสังคมจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งครัวเรือนที่มีเด็กฟื้นตัวช้ากว่าประชากรกลุ่มอื่น มูลนิธิช่วยเหลือเด็กฯ เล็งเห็นความพยายามจาก กทม. และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรไม่แสวงผลกำไร ภาคธุรกิจ ในการสร้างนโยบายโรงเรียนปลอดภัย ขยายเครือข่ายการจัดระบบบริการแบบครบวงจร OSCC สำหรับเด็กและสตรีที่ได้รับความรุนแรง มูลนิธิฯ พร้อมเป็นแนวร่วมสำคัญของ กทม. ยึดหลักต่อยอดการทำงานให้ยั่งยืนและประสานทรัพยากรจากกลไกที่มีอยู่ 1. ส่งเสริมให้โรงเรียนมีนโยบายและระบบการคุ้มครองเด็ก ช่วยเหลือและจัดการความรุนแรงที่มีประสิทธิภาพ ทันท่วงที 2. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเด็กผ่านกลไกสภาเด็กและเยาวชน และกลไกอื่นในกทม. ร่วมออกแบบเมืองที่เป็นมิตรและน่าอยู่สำหรับเด็ก 3. ส่งเสริมให้เด็กได้แสดงออกตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก อำนวยให้เกิดพื้นที่ที่ปลอดภัย เพื่อให้เด็กและเยาวชนสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพแสดงความเห็นในเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเด็ก เช่น สิทธิในเนื้อตัวร่างกาย ความเสมอภาคทางเพศ สิทธิที่จะอาศัยและเข้าถึงทรัพยากร เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยและปราศจากความรุนแรง