“หมอธีระวัฒน์” ส่งหนังสือถึง ผอ.โรงพยาบาลจุฬาฯ ขอทราบข้อเท็จจริงการออกคําสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อหาไม่รัดกุม-สร้างความเสียหาย กรณียุติการศึกษาไวรัสค้างคาว ชี้เป็นข้อกล่าวหาร้ายแรง จึงขอดูสำเนาหนังสือร้องเรียนที่นำไปสู่การตั้งกรรมการสอบสวนดังกล่าวภายใน 27 พ.ย.นี้ มิฉะนั้นจะดำเนินการตามกฎหมาย
วันนี้(15 พ.ย.) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ทำหนังสือถึงผู้อํานวยการ โรงพยาบาลฯ เรื่อง ขอทราบข้อเท็จจริงการออกคําสั่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีรายละเอียดเนื้อความดังนี้
ที่ ศวอ.261/2566
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566
เรื่อง ขอทราบข้อเท็จจริงการออกคําสั่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
เรียน ผู้อำนวยการฯ
อ้างถึง 1. คําสั่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ที่ 1576/2566 ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 2. บันทึกศูนย์กฎหมายที่ ศกม.344/2566 ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2566
สิ่งที่ส่งมาด้วย 1. สําเนาคําให้การและหลักฐานต่อคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง พร้อมภาคผนวกที่เกี่ยวกับความ เป็นเจ้าของโครงการที่ได้รับทุนจากสหรัฐ และสิทธิ์ในการทําลายตัวอย่างทั้งหมด
ตามที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มีคําสั่งที่อ้างถึง แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง เพื่อดําเนินการสอบข้อเท็จจริงหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ และบันทึกจากศูนย์กฎหมายที่อ้างถึงเพื่อเชิญพยานให้ถ้อยคําชี้แจงในข้อกล่าวหา “กรณีไม่ปฏิบัติงานด้วยความรัดกุม จึงทําให้เกิดความเสี่ยงด้านการบริหารงานและเกิดความเสียหายทั้งในระบบระดับประเทศกับเครือข่ายงานเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่” ในวันพุธที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ความละเอียดดังแจ้ง
การนี้ ข้อกล่าวหาดังกล่าวล้วนไม่เป็นความจริง ทั้งยังเป็นข้อกล่าวหาอย่างร้ายแรงที่ทําให้เกิดความเสื่อมเสียต่อชื่อเสียงของศูนย์ฯ และของหัวหน้าศูนย์ฯ ตลอดจนวงศ์ตระกูลของข้าพเจ้า อีกทั้งยังไม่ตระหนักถึงความร้ายแรงของการกระจายเชื้อจนถึงกลายเป็นโรคระบาด ซึ่งข้าพเจ้าได้เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงตามที่ได้แจ้งนัดหมายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีการร้องขอจากนักกฎหมายของศูนย์ฯ ให้มีการบันทึก VDO ในระหว่างการให้ถ้อยคําของพยานทุกคนของศูนย์ฯ เพื่อสิทธิประโยชน์ทางกฎหมายของพยาน ดังรายละเอียดตามเอกสารแนบ และข้าพเจ้าใคร่ขอทราบ ดังต่อไปนี้
1. คําสั่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ที่อ้างถึง มีที่มาอย่างไร ใครเป็นผู้ร้องเรียน มีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานอย่างไรจึงได้มีการตั้งข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงเช่นนั้นต่อข้าพเจ้า
2. ความคืบหน้าของการสอบข้อเท็จจริงตามที่ท่านได้แต่งตั้งคณะกรรมการไว้ ได้ข้อสรุปเป็นอย่างไร
ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น ข้าพเจ้าจึงใคร่ขอให้ท่านได้โปรดส่งสําเนาหนังสือร้องเรียนอันเป็นเหตุให้มีการสอบสวนของคณะกรรมการให้แก่ข้าพเจ้าภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 มิฉะนั้นข้าพเจ้าก็มีความจําเป็นที่จะต้องใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อเป็นการรักษาชื่อเสียงของข้าพเจ้าต่อไป
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดําเนินการตามที่ข้าพเจ้าร้องขอต่อไปด้วย
(ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา)
หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่
ทั้งนี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ในฐานะหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ถูกตั้งกรรมการสอบสวน หลังจากได้สั่งยุติการรับทุนจากต่างประเทศและยุติการเอาไวรัสค้างคาวมาศึกษา เนื่องจากเกรงจะเป็นอันตรายอย่างร้ายแรง รวมทั้งได้ต่อต้านการเอาไวรัสเหล่านี้ไปตัดต่อพันธุกรรม ซึ่งอาจจะซ้ำรอยการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และได้ตัดสินใจทำลายตัวอย่างไวรัสเหล่านี้จนหมด แต่กลับถูกตั้งกรรมการสอบสวนว่าบริหารไม่รัดกุม ก่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหาย