xs
xsm
sm
md
lg

"ชลน่าน" กางแผน 3 เฟส "บัตร ปชช." รักษาทุกที่ เผยเฟส 2 ขยายอีก 8 จว. กทม.ยังต้องรอ ยันงบไม่กระทบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ชลน่าน" คาดงบปี 67 บังคับใช้ได้ พ.ค.ปีหน้า ยันไม่กระทบยกระดับ 30 บาท โดยเฉพาะบัตร ปชช.รักษาทุกที่ แจงขับเคลื่อน 3 เฟส เฟสแรก 4 จังหวัดนำร่องรักษาทุกที่ทุกเครือข่าย เริ่ม 1 ม.ค. 67 นายกฯ เปิด 8 ม.ค. ส่วนเฟสสองขยายอีก 8 จังหวัดช่วงมี.ค. ส่วนเฟสสามนำร่องรักษาทุกที่ในเขตสุขภาพ 4 เขต เฉพาะเครือข่าย สธ. ส่วน กทม.ต้องใช้เวลา คาดสำเร็จใน 1 ปี

เมื่อวันที่ 14 พ.ย. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณี ครม.เห็นชอบงบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2567 วงเงินกว่า 2.17 แสนล้านบาท ว่า ครม.ได้เห็นชอบเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แบ่งเป็นงบเหมาจ่ายรายหัว และงบนอกเหมาจ่าย จากนี้จะถูกส่งเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ วาระรับหลักการในชั้นผู้แทนราษฎร ผ่านคณะกรรมาธิการฯ หากตัวเลขนี้คงอยู่ก็จะส่งไปยังวุฒิสภา จากนั้นหากเห็นชอบก็จะประกาศใช้และได้งบวงเงินดังกล่าว หากไม่มีการปรับลด

ถามถึงงบยกระดับ 30 บาท โดยเฉพาะบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ในนโยบายของรัฐบาลทาง สปสช.ได้แจงเม็ดเงินทุกนโยบาย ซึ่งครอบคลุมตามนโยบายใหม่ทั้งหมด โดยงบเหมาจ่ายรายหัวอยู่ที่ประมาณ 165,000 ล้านบาท

ถามต่อว่าการพิจารณางบครั้งนี้ค่อนข้างล่าช้า จะส่งผลกระทบต่อนโยบายยกระดับ 30 บาทหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า รัฐบาลเข้ามาค่อนข้างช้า ดังนั้น งบประมาณที่เราประกาศจึงคำนึงถึงเม็ดเงินด้วย ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของงบประมาณที่รองรับ อย่างไรก็ตาม นโยบายที่ประกาศไปทั้ง 13 ประเด็น โดยมี 10 ประเด็นหลักอยู่บนพื้นฐานที่มีงบประมาณทำได้ จะว่ากระทบหรือไม่กระทบเป็นสิ่งที่พูดยาก แต่เราทำบนพื้นฐานความเป็นไปได้ของงบประมาณ ซึ่งแผนการใช้งบประมาณปี 2567 คาดว่าจะทูลเกล้าฯ ได้ในช่วง เม.ย. มีผลบังคับใช้ก็น่าจะประมาณ พ.ค. หลังจากนั้นไปถึง ก.ย.ก็เป็นการใช้ตาม พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 แต่ช่วงก่อนหน้านั้น โดยบทบัญญัติของกฎหมาย กรณียังไม่มี พ.ร.บ.รายจ่ายประจำปีออกมาใช้บังคับ ตัวกฎหมาย รัฐธรรมนูญเขียนชัดว่าให้ใช้ พ.ร.บ.งบประมาณเดิมไปก่อน คือ จ่ายตามกฎหมายเดิม และสัดส่วนการจ่าย สำนักงบประมาณให้จ่ายได้ถึง 2 ใน 3 ของเม็ดเงินจากกฎหมายเดิม เช่น กฎหมายเดิมมี 100 บาท จ่ายได้ถึง 60 บาท

ถามย้ำว่าความล่าช้าของงบประมาณปี 67 จะกระทบนโยบายหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ไม่กระทบกับนโยบาย ในส่วนของแผนงานโครงการเดิมในงบเดิมทำได้ เช่น มิติส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค


ถามถึงกรณี นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขานุการคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพ เตรียมเดินหน้าบัตรประชาชนใบเดียวเฟส 2 ใน 8 จังหวัด จะไม่กระทบบริการใช่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า แผนของการดำเนินการโครงการบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ในกรอบใหญ่ ตั้งใจว่าภายใน 1 ปีจะใช้ได้ทั่วประเทศ โดยระยะแรกเริ่ม 4 จังหวัดนำร่องรักษาได้ทุกที่ทุกเครือข่าย มีแพร่ ร้อยเอ็ด เพชรบุรี และนราธิวาส โดยเริ่ม 1 ม.ค. 2567 แต่นายกฯ จะเปิดโครงการวันที่ 8 ม.ค. 2567 ซึ่งไม่กระทบกับการใช้งบประมาณ

ส่วนเฟส 2 ตั้งเป้าเริ่ม มี.ค. 2567 จะขยายไปยัง 8 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์ เขตสุขภาพที่ 2 , นครสวรรค์ เขตสุขภาพที่ 3 , สิงห์บุรี เขตสุขภาพที่ 4 , พังงา เขตสุขภาพที่ 11 , หนองบัวลำภู เขตสุขภาพที่ 8 , อำนาจเจริญ เขตสุขภาพที่ 10 , นครราชสีมา เขตสุขภาพที่ 9 และสระแก้ว เขตสุขภาพที่ 6 ซึ่งจะเชื่อมระบบทั้งหมด ทำให้ประชาชนสามารถรักษาได้ทุกที่ในทุกเครือข่าย ทั้งรัฐและเอกชน

ส่วนเฟส 3 เริ่ม เม.ย. 2567 จะเป็นการเปิดการใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ใน 4 เขตสุขภาพของ สธ. มีเขตสุขภาพที่ 1 , 4 , 9 และ 12 ซึ่งเป็นการรักษาเฉพาะในเครือข่ายของ สธ. เบื้องต้นยังไม่สามารถรักษาข้ามเขตได้ ซึ่งขอให้รอการเชื่อมข้อมูลทุกเครือข่ายก่อนและภายใน 1 ปี เชื่อว่าจะสามารถทำได้ทั่วประเทศ

เมื่อถามว่าในพื้นที่รักษาข้ามเครือข่าย อย่างเอกชนจะสามารถดึงให้เข้าร่วมได้มากแค่ไหน นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เราพยายามดึงเข้าร่วมมากที่สุด ซึ่งภาคเอกชนสนใจมาก เนื่องจากเป็นแนวทางที่มีความสะดวก ประชาชนเข้าถึง และสามารถใช้ทรัพยากรได้ร่วมกันทั้งรัฐและเอกชน เบื้องต้นหากมีโครงข่ายเข้าถึงได้หมด ภาระงบประมาณที่ใช้ก็จะเป็นความจำเพาะ เช่น จังหวัดเดียวกันที่ใช้ได้ทุกเครือข่าย ประชาชนใกล้ที่ไหนก็จะไปที่นั่นก่อน ซึ่งเราก็วางระบบปฐมภูมิด้วย

ถามว่าไม่ได้เป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำของผู้ใช้บัตรทองในแต่ละจังหวัดใช่หรือไม่ เพราะบางจังหวัดรักษาได้ทุกเครือข่าย นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ก็อาจมอง แต่ความพร้อมเชิงระบบเราอธิบายต่อประชาชนได้ หากไม่พร้อมและไปจัดบริการ แทนจะได้ประโยชน์จะเสียหายและไม่เชื่อมั่น ดังนั้น ฐานข้อมูลที่ต้องเชื่อมให้เกิดความพร้อม และมีความเสถียรจึงจำเป็น เหตุที่มีความรู้สึกเหลื่อมล้ำอาจรู้สึกไม่สะดวก แต่สิทธิที่ได้รับไม่ด้อยกว่าที่เป็นอยู่ คำว่าเหลื่อมล้ำในการดูแลสุขภาพ จึงไม่ได้เหลื่อมล้ำ สิทธิการเข้าถึงโดยสะดวกอาจแตกต่าง

เมื่อถามว่า กทม.จะมีการใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ข้ามเครือข่ายเมื่อไร นพ.ชลน่าน กล่าวว่า กทม.มีความซับซ้อนสูงมาก มี รพ.หลายระดับ จึงต้องอาศัยเวลาในการเชื่อมโยงฐานข้อมูล ขณะนี้กำลังพัฒนา มั่นใจว่าภายใน 1 ปีระบบเสถียรและใช้ได้ภายใน 1 ปี


กำลังโหลดความคิดเห็น