"ชลน่าน" ตอกกลับ อ.เอก ฝ่ามือพลังจิต ใช้ตบถีบรักษาโรค ไม่ต้องท้า ถ้าทำผิดกฎหมายส่งคนจับแน่ ไม่ต้องอ้าง กม.ปิดกั้น ย้ำงานดูแลรักษาต้องทำตาม กม. สธ.มีหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคให้ปลอดภัย ควบคุมผู้ประกอบวิชาชีพ แจงมีหลายศาสตร์แต่ต้องผ่านการยอมรับ มีมาตรฐาน และปลอดภัย
จากกรณี "อาจารย์เอก ฝ่ามือพลังจิต” ที่รักษาชาวบ้านด้วยการตบ เหยียบ ซึ่งมีหญิงอายุ 68 ปี มารักษาด้วยอาการตาฟาง หลังตบรักษาทำให้สายตาดีอยู่ 3 วัน จากนั้นตาบอดสนิท ซึ่งอาจารย์เอกออกมาระบุว่า เป็นการรักษาโรคกระดูกทับเส้นประสาทแนวใหม่ การแพทย์แผนปัจจุบันไม่สามารถรักษาโรคเหล่านี้ พร้อมท้ากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการ สธ. ให้มารักษา อย่าเอากฎหมายมาปิดกั้น
เมื่อวันที่ 14 พ.ย. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ว่า การดูแลรักษาที่เกี่ยวกับชีวิตมนุษย์จะต้องเป็นไปตามกฎหมายและบทบัญญัติ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับอันตรายต่อชีวิต ดังนั้น ต้องไปดูว่าสิ่งที่เขาทำนั้นมีกฎหมายอะไรมารองรับ มีการประกอบวิชาชีพที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เขามีสิทธิในการรักษา แต่ต้องเป็นไปตามกฎหมายบัญญัติ เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ซึ่งจะต้องเป็นไปตามหลักการนี้
เมื่อถามว่าอาจารย์เอก อ้างว่าอย่าเอาเรื่องกฎหมายมาพูดมาปิดกั้น เพราะเป็นการจำกัดสิทธิผู้ป่วยที่จะมีทางเลือกในการรักษา นพ.ชลน่านกล่าวว่า ไม่ได้ เพราะสิทธิต้องอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายคุ้มครอง จะอ้างสิทธิโดยไม่ยึดข้อกฎหมายไม่ได้ บ้านเมืองมีกฎหมาย คนที่ไม่ยอมรับในกฎหมายก็อยู่ในบ้านเมืองไม่ได้
“ไม่ต้องท้า ถ้าทำผิดกฎหมาย ผมส่งคนไปจับอยู่แล้ว อย่าท้า ถ้าทำผิดกฎหมาย ผมมีหน้าที่ควบคุมดูแล ไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากการดูแลสุขภาพที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” นพ.ชลน่านกล่าว
ถามว่าจำเป็นต้องไปตรวจสอบตัวผู้ทำการรักษาหรือไม่ เพราะเกิดกรณีรักษาคนจนตาบอดสนิท นพ.ชลน่านกล่าวว่า ต้องไปดูในรายละเอียดว่า หลังจากการรักษาด้วยการตบนั้นเป็นเหตุที่ทำให้ตาบอดสนิทหรือไม่ ซึ่งนี่เป็นตัวอย่างที่เราต้องดูแลคุ้มครองผู้บริโภคจากการรักษาพยาบาลที่มีมาตรฐานมีความปลอดภัยให้ประชาชนได้อย่างไร อย่างไรก็ตาม สธ.มีหน้าที่ควบคุมสถานบริการที่ใช้ในการรักษา และควบคุมผู้ประกอบวิชาชีพโรคศิลปะ และประกอบวิชาชีพเวชกรรม ดังนั้นก็จะเอากฎหมายที่มีอยู่นำมาบังคับใช้ จะไม่ใช้กฎหมายไม่ได้ ยิ่งท้าว่าอย่าเอากฎหมายมาพูดก็ยิ่งต้องพูด
“จริงอยู่ที่มีหลายศาสตร์ ที่เราไม่สามารถเรียนรู้ได้ทั้งหมด แต่การจะใช้ศาสตร์ต่างๆ นั้นมาดูแลรักษาโรค ดูแลชีวิตมนุษย์ จะต้องอยู่บนพื้นฐานของการยอมรับ มีมาตรฐาน มีความปลอดภัย” นพ.ชลน่านกล่าว