xs
xsm
sm
md
lg

"ชลน่าน" เล็งใช้ กม.คุมเหล้า จ่อเคาะหลายมาตรการรองรับเปิดผับตี 4 เน้นตรวจแอลฯ เมาห้ามขับ-ห้ามขาย ทำอุปกรณ์ตรวจหาง่าย พกพาได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ชลน่าน" ยันขยายเวลาเปิดผับตี 4 ต้องทำให้ไม่เกิดผลกระทบสุขภาพ เผยกรรมการกำลังพิจารณาเสนอหลายมาตรการ ทั้งตรวจระดับแอลกอฮอล์วัดความเมา ก่อนออกจากร้าน ตรวจคนสงสัยว่าเมา สกัดขายเพิ่ม เร่งทำให้เครื่องเป่าวัดเป็นของทั่วไป หาง่าย พกติดตัว ชี้อยากสนุกต้องรับผิดชอบความปลอดภัย ส่วนตั้งกองทุนเยียวยาเป็นแนวคิดที่ดี

เมื่อวันที่ 14 พ.ย. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนโยบายขยายเวลาเปิดสถานบริการผับบาร์ถึงตี 4 ให้เมืองท่องเที่ยวพื้นที่โซนนิ่ง ว่า เรื่องนี้ในมุมของ สธ.เราให้ความสำคัญมาก ตัวนโยบายส่งเสริมด้านเศรษฐกิจต้องไม่กระทบกับมิติสุขภาพด้วย อย่างน้อยต้องคงเดิมหรือไม่มากกว่าเดิม หรือมีมาตรการเข้มข้นขึ้นอาจจะดีกว่าเดิม เพราะฉะนั้นเราให้ความสำคัญในการกำหนดมาตรการรองรับ คงไม่ไปคัดง้างหรือต่อต้านนโยบายของรัฐบาลนั่นเป็นมติ ครม.และนโยบายรัฐบาล แต่หน้าที่เราทำอย่างไรเมื่อขยายจากตี 2 เป็นตี 4 ช่วงเวลาที่ขยายจะไม่ส่งผลมิติสุขภาพ เราถือกฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีกฎกระทรวงรองรับ ขณะนี้กรรมการกำลังพิจารณารายละเอียดในการเสนอมาตรการ เพื่อให้รัฐมนตรีประกาศในกฎกระทรวงเพื่อบังคับใช้

"พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีหลายมาตราที่ให้อำนาจไว้ เช่น การกำหนดพื้นที่การจำหน่าย ระยะเวลาจำหน่าย สภาพบุคคลที่จำหน่าย เขียนไว้ในกฎหมายแล้ว ก็แปลงมาเป็นกฎกระทรวงรองรับ ยกตัวอย่าง มาตรการที่เราพูดคุยในกรรมการกำลังจะเสนอ ยังไม่มีข้อสรุป เช่น ทำอย่างไรมาตรการควบคุมอย่างเข้มจะมีเครื่องวัดความเมา หรือวัดระดับแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดได้ คนที่จะออกจากร้านไปขับรถ เป็นไปได้หรือไม่ทุกคนต้องตรวจระดับแอลกอฮอล์ ถ้ามีปริมาณที่เกินก็ต้องมีมาตรการ เช่น ร้านหรือคนควบคุมตรงนั้นต้องไม่ให้ขับรถ มีรถสาธารณะมารองรับ" นพ.ชลน่านกล่าว

นพ.ชลน่านกล่าวว่า หรืออย่างตอนช่วงดื่มกินก็มีกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ว่าห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สำหรับคนที่มีอาการมึนเมา เราก็แปลงมาแล้วจะบังคับอย่างไร เช่น ไปนั่งดื่มแล้วมีอาการเข้าข่ายสงสัยว่าจะเมา จะมีการตรวจวัดอย่างไรให้รู้ว่าโต๊ะนี้เข้าข่ายต้องทำตามกฎหมาย จะซื้อจะขายต่อไม่ได้ เพราะกฎหมายเขียนไว้ 2 ลักษณะ ระยะเวลาที่จำหน่าย กรณีร้านสถานบริการให้จำหน่ายได้ถึงเวลาที่ปิดสถานบริการ เพราะฉะนั้น ถ้าปิดถึงตี 4 ก็ขายได้ถึงตี 4 เมื่อกฎหมายขยายได้ มาตรการควบคุมก็ต้องเข้ม เรื่องต่อไปที่กำลังคิด เครื่องวัดแอลกอฮอล์ในลมหายใจที่นิยามว่าเป็นเครื่องมือแพทย์ ต้องมีมาตรฐานมีการอนุญาตมีราคาที่สูง ซึ่งหาได้ยาก ฝ่ายที่เกีย่วข้องอย่าง อย. กำลังไปพิจารณาว่าจะสามารถแบ่งแยกประเภทได้ไหม ที่ใช้กับทางการแพทย์ก็ให้เป็นเครื่องมือแพทย์ไป แต่หากใช้กับตรวจวัดเป็นการทั่วไป เป้นลักษระของการค้นหาหรือสกรีนนิ่ง จะเป็นเครื่องมือโดยทั่วไปหรือไม่ ก็จะไปดูเรื่องนี้เพื่อให้เข้าถึงเครื่องมือได้ง่ายทุกคนพกติดตัวได้ ตรวจสอบตัวเองได้ ถ้าทุกคนมีวินัยอย่างนี้มาตรการเหล่านี้จะเกิดประโยชน์มาก ไม่มีผลต่อเรื่องการขยายเวลาเปิด


ถามถึงกรณีว่าน ธนกฤต พานิชวิทย์ ศิลปินนักร้องที่มีการไลฟ์สดดื่ม ก่อนจะขับรถเกิดอุบัติเหตุชนพนักงานเก็บขยะ จะเป็นเหตุผลให้ต้องเสนอให้ผ่านให้ได้ เรื่องบังคับตรวจแอลกอฮอล์ก่อนออกจากร้านและห้ามขับรถโดยเด็ดขาดหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เป็นเหตุผลชัดเจน เป็นข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่ทุกคนต้องตระหนัก เรื่องนี้เป็นข้อเท็จจริงที่พึงต้องมีกฎมาควบคุมชัดเจน ดารานักร้องคนนี้ผิดกฎหมายหลายมาตรา ส่วนที่ไปกำกับดูแลก็ว่ากันไป ขับขณะมึนเมา เกิดอุบัติเหตุก็ผิดอยู่แล้ว เป็นพฤติกรรมที่กระทำไม่ชอบ ผิดกฎหมายต้องห้ามไว้ก็ว่าไปตามกระบวนกฎหมายนั่นไป ส่วน สธ.ในฐานะที่เป็นคนดูแลบังคับใช้กฎหมายเครื่องดื่มแอลกฮออล์ เราก็จะดูทั้งมาตรการที่จะป้องกันขณะที่กิดเหตุและหลังเกิดเหตุ

ถามถึงความรับผิดชอบในการตรวจต้องเป็นของร้านค้านั้นใช่หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เราต้องไปดูเงื่อนไขการออกระเบียบและกฎกระทรวงว่ากฎหมายให้อำนาจกรรมการไว้ กรรมการต้องไปดูว่าใช้บังคับกับใครได้

ถามว่าก่อนหน้านี้ สธ.จะรณรงค์ใช้คำว่า “ดื่มไม่ขับ” ไม่ได้ใช้คำว่า “เมาไม่ขับ” ต่อไปจะต้องปรับมาตรการการรณงค์หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เข้มเลย หมายความว่า คำว่าดื่มไม่ขับอาจจะน้อยไปแล้ว จากนี้ต้องตรวจวัดทุกครั้งถ้าคุณดื่มในสถานบันเทิงก็จะต้องเข้มขนาดนั้น ดังนั้นต้องทำให้เครื่องวัดหาง่าย สามารถพกพาได้ด้วยตนเอง รู้ตนเอง รู้เพื่อน รู้กลุ่ม ถ้าคุณอยากสนุกก็ต้องสนุกบนพื้นฐานของความปลอดภัยต่อชีวิตตนเองและคนอื่นด้วย

ถามต่อว่า มีข้อเสนอจากภาคประชาชนว่า เพื่อเพิ่มความรับผิดชอบให้คนที่อยู่ในธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรมีการตั้งกองทุนเยียวยาเหยื่อที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เป็นแนวทางวิธีคิดที่คล้ายกับการเก็บภาษีบาป ทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารมึนเมา เพื่อนำเงินนี้มาใช้เพื่อสร้างเสริมสุขภาพ ผ่านทาง สสส. ก็อาจจะมีแนวคิดอย่างนั้นได้ ต้องดูในรายละเอียดว่า สามารถจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มแอกลอฮอล์แล้วนำมาจัดตั้งกองทุนเยียวยาเหยื่อได้หรือไม่ ถามย้ำว่าจะเสนอเข้าไปพร้อมกันเลยหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เป็นแนวคิดที่ดี เพื่อให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม ก็กำลังพิจารณา


กำลังโหลดความคิดเห็น