xs
xsm
sm
md
lg

นศ.แพทย์-ทันตะ-เภสัชฯ ชี้ 5 ปัญหาทำ "สุขภาพจิต" พัง ส่อพักการเรียน-ฆ่าตัวตาย จัด "กาวน์ใจ" ถกทางออกชง สธ. สภาวิชาชีพ คณะ ร่วมแก้ปม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เครือข่ายนิสิต นศ.แพทย์ ทันตะ เภสัชฯ ชี้ 5 ปัจจัยทำ "สุขภาพจิต" พัง เครียดสะสม ซึมเศร้า พึงพอใจตนเองต่ำ วิตกกังวล จนต้องพักการเรียน - ฆ่าตัวตาย จัดเวที "กาวน์ใจ" ระดมสมองถกปัญหา-ทางออก ชงข้อเสนอเชิงนโยบายเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เสนอสภาวิชาชีพ คณะร่วมแก้ปม

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กลุ่มนิสิตนักศึกษาแพทย์มีส่วนสำคัญในระบบสุขภาพและสุขภาพจิตของประเทศ ซึ่งสุขภาพจิตเป็น 1 ใน 4 มิติสุขภาวะ หากมีปัญหาทางจิตย่อมส่งผลกระทบไปถึงมิติอื่นๆ คือ กาย ปัญญา และสังคมด้วย ปัจจุบันปัญหาสุขภาพจิตถือเป็นเรื่องใกล้ตัว พบได้บ่อยในสังคมทั่วโลก จากสถานการณ์ปัจจุบันพบว่า ภาวะซึมเศร้าเป็นสาเหตุลำดับต้นๆ ของการสูญเสียปีสุขภาวะในวัยรุ่น 15-19 ปีทั่วโลก กว่า 75% ของผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด จะเริ่มมีอาการก่อนอายุ 18 ปี ดังนั้น ปัญหาด้านสุขภาพจิตของเด็ก วัยรุ่น และเยาวชน จึงเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ ปัจจัยหนึ่งที่มีผลกระทบต่อสุขภาพจิตของเยาวชนอย่างมาก คือ การรับข้อมูลข่าวสารจำนวนมากบนโลกออนไลน์ ด้านหนึ่งเข้าถึงข้อมูลที่หลากหลายได้ง่ายและสะดวก แต่อาจมีผลกระทบต่อวิธีคิดและสภาพจิตใจของเยาวชนโดยที่ไม่รู้ตัว


"รัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหาด้านสุขภาพจิตและยาเสพติด สธ.กำหนดเป็นหนึ่งในนโยบาย Quick Win มีแนวทางเรื่อง “Mental Health Anywhere” ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการคุณภาพได้ตั้งแต่ระยะแรก สามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้ เน้นขยายบริการครอบคลุมในชุมชน เพิ่มศักยภาพด้วย Telemedicine ให้เข้ารับบริการได้สะดวก รวดเร็ว และเป็นส่วนตัว มุ่งเปลี่ยนวิธีคิดของผู้คนในสังคม เปลี่ยนทัศนคติที่ไม่มองผู้ป่วยทางจิตเป็นคนแปลกแยก แต่ทุกคนควรจะได้รับโอกาสและไม่ถูกกดทับซ้ำเติม ซึ่งต้องแก้ไขครอบคลุมครบทุกมิติ ตั้งแต่ตัวบุคคล ครอบครัว ชุมชน สังคม และนโยบายสาธารณะที่ชัดเจน นำไปใช้พัฒนาระบบบริการทางสุขภาพจิตของประเทศ ซึ่งได้รับการบรรจุเป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปีนี้ ซึ่ง สธ.จะเข้าไปร่วมขับเคลื่อนให้สำเร็จ” นพ.ชลน่าน กล่าว

นพ.ชลน่านกล่าวว่า ล่าสุด เมื่อวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา มีการเปิดโครงการสมัชชาสุขภาพจิตนิสิตนักศึกษาสายวิทยาศาสตร์สุขภาพและเยาวชน ประจำปีการศึกษา 2566 จัดโดยสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย ในพระอุุปถัมภ์ฯ (สพท.) สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาทันตแพทย์แห่งประเทศไทย (สนทท.) และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย (สนภท.) หรืองาน “กาวน์ใจ” เพื่อกระตุ้นให้นิสิตนักศึกษาแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชศาสตร์ อาจารย์ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมมือกันในการส่งเสริม ป้องกัน ดูแลและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตของกลุ่มนักศึกษา ร่วมกันร่างข้อเสนอเชิงนโยบาย ที่จะมีการนำไปพิจารณาร่วมกับการพัฒนาข้อเสนอของคณะทำงานพัฒนาประเด็น “ระบบสุขภาวะทางจิตเพื่อสังคมไทยไร้ความรุนแรง”


ด้าน นศพ.ศุภานัน เจนธีรวงศ์ นายก สพท.ประจำปีการศึกษา 2566 กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้ทั้ง 3 เครือข่ายเห็นตรงกันถึงปัญหาด้านสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นจริง และมีมานานในกลุ่มนิสิตนักศึกษาแพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชศาสตร์ ส่งผลกระทบต่อการเรียน การทำงานในอนาคตที่จะต้องให้การรักษาและบริบาลแก่ประชาชนทั่วไป แต่ที่ผ่านมากลับยังไม่เคยมีการรวบรวมข้อมูลที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งนี้ ในการสำรวจคุณภาพของสุขภาวะทางจิตขั้นต้น พบว่า มีปัญหาที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตของนิสิตนักศึกษา ไม่ว่าจะเป็น 1. ความเครียดในการเรียนการสอนที่เกิดจากอาจารย์ เช่น จากการใช้วาจาที่รุนแรง การสอน การอธิบายที่คลุมเครือ 2. ระบบการศึกษาและหลักสูตร ที่ไม่เอื้อต่อนิสิตนักศึกษา มีการบีบอัดเนื้อหาวิชาเรียน มีความซ้ำซ้อน 3. สภาพแวดล้อม เพื่อน และสังคมภายในคณะ มีความขัดแย้งหรือความกดดันที่ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ 4. ภาระงานและข้อกำหนดชั่วโมงการทำงานที่มากเกินไป ทำให้นิสิตนักศึกษาไม่มีเวลาพักผ่อนที่เพียงพอ เกิดความเครียดสะสม เหนื่อยล้า 5. ระบบกิจการนิสิต มีปัญหา เช่น ความน่าเชื่อถือ การจัดการปัญหาที่นิสิตนักศึกษาร้องเรียน นอกจากนี้ สภาวะความเครียดสะสมและสุขภาพจิต ภาวะการหมดไฟในการทำงาน ภาวะความพึงพอใจในตนเองต่ำ โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล และโรคตื่นตระหนก นำไปสู่อัตราการพักการศึกษา ไปจนถึงการฆ่าตัวตายที่สูงขึ้น จึงเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

นอกจากนี้ การสำรวจภาวะซึมเศร้าขั้นต้น (PHQ-9) ร่วมกันของนิสิตนักศึกษาทั้ง 3 องค์กร พบการเผชิญปัญหาภาวะซึมเศร้าจำนวนมาก เช่น กลุ่มนิสิตนักศึกษาทันตแพทย์ พบภาวะซึมเศร้าเกินกว่า 50% เป็นต้น เครือข่ายจึงสนใจที่จะจัดทำเป็นข้อมูลที่ชัดเจน ผ่านกระบวนการสมัชชาสุขภาพจิตฯ เพื่อให้กลุ่มนิสิตนักศึกษาเข้ามาร่วมกันระดมปัญหา เสนอทางออก ผ่านกระบวนการ Design Thinking ก่อนที่จะได้ออกมาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายและแนวทางต่างๆ ที่จะไปนำเสนอในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ประเด็น ระบบสุขภาวะทางจิตเพื่อสังคมไทยไร้ความรุนแรง และส่งผ่านไปถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป ที่ผ่านมาเราอยู่กับปัญหาเรื่องนี้มานาน เห็นผลกระทบเกิดขึ้นกับคนรอบตัว บางคนถึงขั้นจบชีวิต แต่ก็ยังไม่มีแนวทางการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม หวังว่าข้อเสนอและแนวทางที่ระดมออกมาร่วมกัน จะส่งไปถึงแพทยสภา ทันตแพทยสภา สภาเภสัชกรรม คณบดีคณะต่างๆ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องนำไปปรับใช้เพื่อแก้ไขปัญหา ในอนาคตยังอยากพัฒนาให้เกิดงานวิจัย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือและสามารถนำไปอ้างอิงต่อได้มากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น