รพ.ราชวิถีเปิด "คลินิกส่งเสริมมีบุตร" ส่งเสริมตั้งครรภ์คุณภาพ ตรวจรักษามีบุตรยาก ฉีดน้ำอสุจิเข้าโพรงมดลูก ทำเด็กหลอดแก้ว แช่แข็งตัวอ่อน จัดบริการตรวจสุขภาพคู่สมรสฟรี 50 คู่
เมื่อวันที่ 13 พ.ย. นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวภายหลังเปิดคลินิกส่งเสริมการมีบุตร รพ.ราชวิถี ว่า ปัจจุบันไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว และมีปัญหาประชากรเกิดน้อย สาเหตุหลักมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจ และค่านิยมการมีบุตรที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่ง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีนโยบายเรื่องส่งเสริมการมีบุตร ดังนั้น กรมการแพทย์โดย รพ.ราชวิถีจึงจัดให้มีคลินิกส่งเสริมการมีบุตร เน้นให้บริการเชิงรุกคู่สมรสที่เพิ่งแต่งงานเป็นหลัก เนื่องจากครอบคลุมกลุ่มประชากรส่วนใหญ่ที่ยังมีอายุไม่มากเกินไป มีสุขภาพที่ดี และมีโอกาสที่จะมีบุตรที่มีคุณภาพ ส่วนการรักษาภาวะผู้มีบุตรยากจัดเป็นประเด็นสำคัญลำดับถัดมา เนื่องจากครอบคลุมกลุ่มประชากรที่มีจำนวนไม่มาก และสามารถเข้ารับบริการที่คลินิกรักษาผู้มีบุตรยากของ รพ.อยู่แล้ว นอกจากนี้ ยังมอบหมาย รพ.ราชวิถีจัดอบรมเรื่องการตรวจน้ำอสุจิ การเตรียมน้ำอสุจิและการฉีดน้ำอสุจิเข้าโพรงมดลูก เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อน สามารถให้บริการได้ที่ รพ.ขนาดเล็กโดยสูตินรีแพทย์ทั่วไป และมีราคาที่ไม่แพง เพื่อง่ายต่อการเข้าถึงของประชาชนอีกด้วย
นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผอ.รพ.ราชวิถี กล่าวว่า รพ.ราชวิถีจัดให้มีบริการตรวจสุขภาพของคลินิกส่งเสริมการมีบุตรฟรี จำนวน 50 คู่ โดยคู่สมรสสามารถโทรเข้ามาที่ศูนย์ประสานงานเพื่อนัดคิวตรวจ และทำบัตร รพ.ผ่านระบบออนไลน์ เมื่อถึงวันที่มาตรวจคู่สมรสสามารถมารับการตรวจแบบ one stop service ได้ที่คลินิกส่งเสริมการมีบุตร ชั้น 6 อาคารทศมินทราธิราช โดยจะมีการตรวจเลือดเพื่อวิเคราะห์ผลในห้องปฏิบัติการ และพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ สำหรับผลการตรวจเลือดบางชนิดที่ต้องรอระยะเวลาในการตรวจมากกว่า 1 วัน ผู้ที่มาตรวจจะได้รับการแจ้งผลเลือดผ่านระบบ Telemedicine
นพ.ทรงพล พุทธศิริ หัวหน้างานเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ รพ.ราชวิถี กล่าวว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 คลินิกรักษาผู้มีบุตรยาก รพ.ราชวิถี ได้หยุดให้บริการทำเด็กหลอดแก้วไปช่วงหนึ่ง โดยปัจจุบันได้ย้ายมาเปิดดำเนินการที่ชั้น 6 อาคารทศมินทราธิราช และได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์การแพทย์เพื่อการมีบุตร” สำหรับให้บริการตรวจรักษาภาวะมีบุตรยากที่ครอบคลุมทุกระดับ ตั้งแต่การตรวจวินิจฉัยภาวะมีบุตรยาก การฉีดน้ำอสุจิเข้าโพรงมดลูก การทำเด็กหลอดแก้ว การแช่แข็งตัวอ่อนและเซลล์สืบพันธุ์ นอกจากนี้เพื่อช่วยขับเคลื่อนนโยบายของกรมการแพทย์ที่ต้องการส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพ ทางหน่วยเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์จึงได้เปิดให้บริการคลินิกส่งเสริมการมีบุตรเพื่อเตรียมตัวคู่สมรสให้มีความพร้อมในการมีบุตรในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมด้วย