เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2566 ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ ภาคประชาสังคม นักวิชาการที่ขับเคลื่อนเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากฐานชุมชนและคนชายขอบ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีสนับสนุนต่าง ๆ จัดเวที “ประชาชนสู้โลกเดือด” หรือ COP ภาคประชาชน เพื่อนำเสนอเสียงของประชาชนด้านต่าง ๆ ในการเผชิญภาวะโลกเดือด บทเรียนการจัดการของชุมชนและประชาชนในการปรับตัว สร้างภูมิคุ้มกันและลดภาวะโลกร้อน ฟื้นฟู ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ เสนอนโยบายต่อสหประชาชาติและรัฐบาลไทยปรับทิศทางนโยบายให้เกิดความยั่งยืนและเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า โลกถูกเตือนจากภัยพิบัติธรรมชาติที่ผิดปรกติจากความผันผวนของภูมิอากาศ ทั้งน้ำท่วม คลื่นความร้อน หิมะตกผิดฤดูกาล ปัญหาการพังทลายของระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพที่หายไป การสูญเสียความมั่นคงอาหาร และความเสี่ยงด้านสุขภาพเพิ่มมากขึ้น คณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ IPCC ที่เป็นการรวมตัวกันของเหล่านักวิทยาศาสตร์ระดับโลก ตั้งแต่ปี 2531 ได้เตือนว่าโลกจะเผชิญวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง สาเหตุจากการทำลายระบบนิเวศ การเผาผลาญพลังงานด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิล การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าที่ธรรมชาติจะรับไหว แม้จะมีอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปี 2535 และประชุมภาคีประเทศสมาชิก หรือ COP มาอย่างต่อเนื่อง แต่โลกยังร้อนขึ้น จนเข้าสู่ภาวะโลกเดือด ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของประชาชน
“สสส. ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ส่งเสริมและขับเคลื่อนนโยบายสุขภาวะสังคมอย่างมีส่วนร่วม ภายใต้ยุทธศาสตร์ไตรพลัง 1. พลังปัญญา 2. พลังสังคม 3. พลังนโยบาย เริ่มที่การสร้างความเข้มแข็งคนฐานราก จัดการทรัพยากรร่วม สร้างนวัตกรรมต้นแบบ และพัฒนาขับเคลื่อนนโยบาย ซึ่งจะสามารถสร้างจุดเปลี่ยนสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ได้” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
ดร.กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ผู้ประสานหลักงาน COP28 ภาคประชาชน กล่าวว่า ภาคประชาสังคมที่ทำงานกับคนรากหญ้าด้านสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ยั่งยืนทั่วประเทศกว่า 23 องค์กร รวมตัวกันจัดเวที “COP28 ภาคประชาชน” กู้วิกฤติโลกเดือดด้วยมือประชาชน ในครั้งนี้ขึ้นระหว่างวันที่ 11 – 12 พ.ย. 2566 เพื่อ 1. เสนอนโยบายต่อโลกและรัฐบาลว่าด้วยการจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นธรรมและยั่งยืน 2. นำเสนอองค์ความรู้ บทเรียนชุมชนกลุ่มต่าง ๆ กับการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 3. เปิดพื้นที่สื่อสาร การเรียนรู้เรื่องราว ชีวิตของผู้คนที่เผชิญการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านภาพยนตร์ สื่อศิลปะต่าง ๆ มุ่งเปิดเวทีให้ประชาชนได้ร่วมถกแถลงทางความคิดและนโยบายทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ที่ตอบโจทย์การเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยการจัดการคาร์บอนต่ำ ควบคู่การปกป้องประชาชน และเปลี่ยนผ่านสังคมให้เกื้อกูลกับระบบนิเวศอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม เป็นการประชุมใหญ่ก่อนร่วมงาน UN COP28 ระหว่างวันที่ 30 พ.ย. – 12 ธ.ค. 2566 ที่นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์