"หมอเลี้ยบ" เผย 4 จังหวัดนำร่องบัตร ปชช.รักษาทุกที่คืบ 80% ไร้ปัญหาเทคนิคเชื่อมต่อข้อมูล เหลือนำ รพ.นอก สธ. เอกชน คลินิก ร้านยาเข้าร่วม เตรียมทดลองระบบต้น ธ.ค. ใช้จริง 8 ม.ค. 67 วางเดินหน้าเฟส 2 ช่วง มี.ค. เชื่อมต่อทั่วประเทศใน 1 ปี เล็งประสานขยายประกันสังคม-ข้าราชการ
เมื่อวันที่ 12 พ.ย. นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขานุการคณะกรรมการพัฒฯาระบบสุขภาพแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการเดินบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ว่า ตนได้ประชุมหารือการบริหารการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบการเชื่อมต่อข้อมูลแบบบูรณาการ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ เมื่อวันที่ 10 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการหารืออย่างไม่เป็นทางการกับผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับการเชื่อมต่อระบบข้อมูลสารสนเทศ เพื่อรองรับบัตรประชาชนรักษาทุกที่ โดยมีการพูดคุยถึงความพร้อมของการเชื่อมต่อข้อมูลในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งขณะนี้มีความพร้อมอยู่มาก ซึ่งได้ย้ำในที่ประชุมว่าอยากเห็นความพร้อมของหน่วยงานนอก สธ.ด้วย เพื่อดูว่ามีจุดไหนที่สามารถใช้การผลักดันเชิงนโยบายให้หน่วยงานนอก สธ. เช่น รพ.คณะแพทย์ รพ.ของกลาโหม หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้ามามีโอกาสเชื่อมต่อกันมากที่สุด
"ได้ย้ำในที่ประชุมไปว่า จุดไหนที่ต้องการประสานเชิงนโยบาย ก็พร้อมไปประสานกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังหารือเรื่อง Financial Data Hub เพื่อมองเรื่องการเบิกจ่าย และค่าใช้จ่ายต่างๆ ตรงนี้เห็นภาพแล้วว่า Financial Data Hub ที่ สธ.ทำไว้มีความพร้อมที่จะเบิกจ่ายจากทั้ง 3 กองทุน แต่อยากเห็นว่านอกเหนือจาก สธ.ก็จะมี Financial Data Hub ของหน่วยงานอื่นๆ ด้วย เอามาเชื่อมต่อกัน ทำให้เห็นภาพข้อมูลค่าใช้จ่ายทางสุขภาพทั้งระบบในประเทศ ซึ่งที่ประชุมก็รับไปประสานต่อ" นพ.สุรพงษ์กล่าว
นพ.สุรพงษ์กล่าวอีกว่า ในที่ประชุมได้ให้ 4 จังหวัดนำร่องรักษาทุกที่ทุกสังกัด ได้แก่ แพร่ ร้อยเอ็ด เพชรบุรี และนราธิวาส มารายงานความคืบหน้าต่างๆ เห็นได้ว่า มีความพร้อมไปได้เยอะกว่า 80% แล้ว จะมีการทดลองระบบเป็นระยะๆ ในช่วงต้นเดือน ธ.ค. เชื่อว่าวันที่ 8 ม.ค. 2567 ที่จะนำร่องจะประสบความสำเร็จ ปะชาชนสามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ได้อย่างไม่มีรอยต่อแน่นอน โดยกำชับว่าทำอย่างไรให้ประชาชนมีโอกาสรับรู้ ประชาสัมพันธ์ให้รับทราบว่า ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.เป็นต้นไประบบนี้จะเริ่มใช้ได้ และฝากว่าจะต้องพิจารณาถึงระยะที่ 2 ที่จะต้องมีจังหวัดอื่นตามมาได้แล้ว เพราะเชื่อว่าหลังจากนำร่อง 4 จังหวัดแล้วเห็นถึงความสะดวกของประชาชน มีผลข้อมูลการศึกษาพฤติกรรมของประชาชน และค่าใช้จ่ายต่างๆ ทำให้เราสามารถนำร่องระยะที่ 2 อย่างมั่นใจมากขึ้น จึงมอบหมายให้ลองพิจารณาว่าระยะที่ 2 จะมีจังหวัดไหนบ้าง
"เรามีการตั้งเป้าหมายว่าระบบข้อมูลทั้งระบบ ควรจะต้องสมบูรณ์แบบภายใน 1 ปี คือ วันที่ 1 ต.ค. 2567 จะต้องเห็นการเชื่อมต่อข้อมูลโดยไร้รอยต่อในทุกสังกัด ความหมายคือ 1 ปีข้างหน้า บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ ควรจะสามารถทำได้ทั้งประเทศ เป็นเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยแต่ละช่วงจะมีการเพิ่มจังหวัดนำร่องมากขึ้น ตั้งเป้าว่าไม่เกิน 2 เดือน น่าจะมีระยะที่ 2 ได้ อาจจะเดือน มี.ค." นพ.สุรพงษ์กล่าว
ถามว่า 4 จังหวัดที่เดนิหน้าได้ราว 80% ยังมีขาดการเชื่อมโยงข้อมูลในส่วนไหนหรือไม่ นพ.สุรพงษ์กล่าวว่า ตอนนี้เรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยีไม่มีปัญหาเรื่องของเทคนิค สามารถเชื่อมกับกลาโหม เอกชน ร้านขายยา หรือคลินิก แต่อยู่ที่ว่า กระบวนการที่จะทำให้เข้าร่วมกันครบ เพราะ รพ.เอกชนอาจจะเริ่มมีการพูดคุยแต่ไม่ครบทุกแห่ง ร้านขายยาต้องยอมรับว่าบางแห่งอาจจะไม่ใช่ร้านขายยาคุณภาพ หรือบางร้านไม่แน่ใจว่ามีเภสัชกรครบทุกร้านหรือไม่ เราก็จะเน้นเฉพาะร้านขายยาคุณภาพเท่านั้น
ถามถึงการเดินหน้าบัตรประชาชนรักษาทุกที่ในส่วนของสิทธิการรักษษอื่น ทั้งประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการ นพ.สุรพงษ์กล่าวว่า เราเริ่มต้นจากสิทธิ 30 บาทก่อน แต่เป้าหมายเราในฐานะรัฐบาล สิทธิประกันสังคมและข้าราชการก็ควรจะต้องมีการใช้บริการได้ทุกที่เหมือนกัน ซึ่งระบบที่เราเตรียมจะสามารถใช้ได้ทั้งสองสิทธิที่เหลืออยู่แล้ว แต่ก็ต้องมีการพูดคุยกับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) และกรมบัญชีกลางต่อไป ก็แจ้งที่ประชุมว่า อยากให้อีก 2 สิทธิได้มาร่วมกันทั้งหมด แต่อาจจะต้องไปทีละขั้น
ถามต่อว่าจากการติดตามการดำเนินงานมีเรื่องใดที่ต้องนำเสนอเข้าที่ประชุมซูเปอร์บอร์ดสุขภาพที่มีนายกฯ เป็นประธานหรือไม่ อย่างเรื่องของสิทธิการรักษาอื่น นพ.สุรพงษ์กล่าวว่า ก็คงเป็นการรายงานความคืบหน้าว่าวันนี้เราไปถึงไหนกันแล้ว จากการประชุมก็พอใจที่ว่าการเตรียมการต่างๆ เป็นไปได้ด้วยดี มีการฝึกซ้อมทดสอบระบบ พร้อมจะนำร่องได้จริงๆ วันที่ 8 ม.ค. ก็จะเรียนนายกฯ ต่อไป ซึ่งนายกฯ ก็แจ้งก่อนประชุมว่า มีอะไรที่ต้องให้สนับสนุนหรือไม่ แต่คิดว่าวันนี้ทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี ส่วนเรื่องของสิทธิการรักษาอื่นเราขอเริ่มต้นจาก 30 บาทก่อน พอทดลองระบบแล้ว เชื่อว่าสิทธิอื่นจะตามมา คนที่อยู่ในสิทธิประกันสังคมและข้าราชการก็ต้องได้รับโอกาสอย่างนี้เช่นกัน
ถามถึงกรณีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นประธาน จะมีการขับเคลื่อนงานอย่างไร นพ.สุรพงษ์กล่าวว่า คณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เรียกว่า ซูเปอร์บอร์ด แต่จะต้องมีบอร์ดบริหารฯ ซึ่งมี น.ส.แพทองธารเป็นประธาน ซึ่งจะเป็นบอร์ดที่ลงรายละเอียด แต่ยังรอคำสั่งแต่งตั้งจากนายกฯ ซึ่งเมื่อแต่งตั้งแล้วบอร์ดบริหารนี้ก็จะตั้งอนุกรรมการขึ้นมาทำงานทั้ง 5 เรื่องที่เป็นควิกวิน ทั้งอนุกรรมการฯ เรื่องระบบข้อมูล อนุฯ เรื่องสถานชีวาภิบาล อนุฯ เกี่ยวกับวัคซีนและการป้องกันมะเร็ง อนุฯ เรื่อง รพ.ใน กทม.และเขตเมือง และอนุฯ เรื่องสุขภาพจิต ซึ่งการประชุมวันที่ 10 พ.ย.ที่ผ่านมา เป็นอนุฯ ไม่เป็นทางการที่คุยเรื่องระบบข้อมูล ทั้งนี้ บอร์ดบริหารจะประชุมติดตามการดำเนินงาน ส่วนซูเปอร์บอร์ดจะประชุมไม่บ่อย ประมาณไตรมาสละครั้ง