สสส.เผยทิศทางคุมยาสูบ 5 ปีข้างหน้า เน้นปรับตัว ไม่ใช่แค่ตามทัน คาดการณ์และดักล่วงหน้า ด้นมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เดินหน้าปีที่ 38 ลุย 3 ด้าน แฉพิษภัยยาสูบ สร้างเครือข่าย ผลักดันนโยบายและกฎหมาย เน้น "บุหรี่ไฟฟ้า"
เมื่อวันที่ 10 พ.ย. ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวในงานเวทีสรุปบทเรียนก้าวสู่ปีที่ 38 ของการควบคุมการบริโภคยาสูบไทย ว่า ตลอดการทำงาน 37 ปี ของมูลนิธิรณรงค์ฯ เกิดการขับเคลื่อนงานควบคุมการบริโภคยาสูบในหลายมิติ ผลักดันให้เกิดกฎหมาย นโยบาย และกลไกที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมยาสูบ เป็นต้นแบบที่ดีของการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพในประเทศไทย รวมทั้งกลายเป็นผู้นำ แหล่งเรียนรู้ และมีส่วนในการเสริมพลังให้แก่ภาคีเครือข่ายในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งการพัฒนากฎหมาย กลไก และจัดตั้งองค์กรสร้างเสริมสุขภาพจากภาษีสุรายาสูบเช่นเดียวกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อเสริมความเข้มแข็งงานควบคุมยาสูบร่วมกันทั้งภูมิภาค ซึ่งจะย้อนกลับมาทำให้ประเทศไทยเข้มแข็งไปพร้อมกันด้วย
ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า ก้าวต่อไปของมูลนิธิฯ คือ 1.เผยแพร่พิษภัยของการเสพติดยาสูบอย่างต่อเนื่อง 2.สร้างเครือข่ายร่วมรณรงค์ และ 3.ผลักดันนโยบายและกฎหมายควบคุมยาสูบ ซึ่งถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า ที่เข้ามาอย่างรุนแรงเหมือนพายุ กลายเป็นความท้าทายใหม่ ที่พุ่งเป้าหมายการตลาดที่เด็กและเยาวชน ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งคือ ต้องมีเครือข่ายการทำงานควบคุมยาสูบที่เข้มแข็งในทุกระดับ พร้อมส่งเสียงไปยังภาคส่วนต่าง ๆ ให้เห็นถึงความสำคัญของการป้องกันยาสูบ โดยทุกคนและทุกฝ่ายต้องไม่อยู่เฉย ต้องชี้ให้ให้เห็นถึงความสำคัญของสุขภาพเด็กในอนาคตเป็นสำคัญ และยังมีหลายนโยบายที่ยังคงต้องทำเพิ่มอยู่อีกพอสมควร เช่น พื้นที่ปลอดบุหรี่ บ้านปลอดบุหรี่ จึงอยากเชิญชวนทุกภาคส่วนให้เข้ามามีส่วนร่วมกันในการป้องกันยาสูบด้วยกัน เพราะไม่มีใครให้จำนวนนักสูบลดลงได้ดีไปกว่าคนในท้องถิ่นเอง
นายพิทยา จินาวัฒน์ กรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส. กล่าวในหัวข้อ “ASH’s Talk อยากเห็นการรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ไปในทิศทางใดในอีก 5 ปีข้างหน้า” ว่า ในช่วง 37 ปีที่ผ่านมาผลงานที่เป็นรูปธรรมในการรณรงค์ลดการบริโภคยาสูบ คือ จำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลง นโยบาย รวมทั้งกฎหมายในการป้องกันและควบคุมยาสูบมีออกมามากขึ้น ถือเป็น “ขาขึ้น” รวมถึงมีการขยายเครือข่ายการทำงานมากขึ้นทั้งในส่วนกลาง ภูมิภาค และพื้นที่ ต้องการฝากข้อคิดว่า ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วมาก ทำให้การรณรงค์เพื่อไม่ให้คนสูบบุหรี่มีความท้าทายหลาย ๆ ปัจจัย ทั้งเรื่องของกระแสเสรีนิยม ธุรกิจยาสูบปรับตัว ปรับกลุ่มเป้าหมาย ปรับกลยุทธ์การโฆษณา มีความพยายามให้นักการเมืองแก้ไขกฎหมาย สร้างเครือข่ายในกลุ่มธุรกิจยาสูบ หรือแม้กระทั่งปล่อยข่าวลวงหรือข่าวปลอมในสื่อออนไลน์ต่าง ๆ
"ทิศทางรณรงค์เพื่อควบคุมยาสูบต่อไปในอนาคตจำเป็นต้องมีการปรับตัว ไม่ใช่แค่ตามทันเท่านั้น แต่จะต้องคาดการณ์และดักล่วงหน้า ต้องมีชั้นเชิงในการนำเสนอ ให้มีความก้าวล้ำไปในระดับหนึ่ง พร้อมเชื่อว่า หากมีความร่วมมือกัน ก็จะทำให้งานประสบความสำเร็จไปได้เช่นกัน” นายพิทยา กล่าว