สธ.แขวนร่างกฎกระทรวงกำหนดรายชื่อ-จำนวน "ยาเสพติด-วัตถุออกฤทธิ์" สันนิษฐานเป็น "ผู้เสพ" แล้ว เปิดให้แสดงความคิดเห็นผ่าน Google Form ตั้งแต่วันที่ 9-23 พ.ย. รวม 15 วัน ให้เลือกรับรองไม่แก้ไข รับรองแต่แก้ไข หรือไม่รับรอง
เมื่อวันที่ 9 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เปิดแสดงความคิดเห็นร่างกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. ... ซึ่งรายละเอียดในร่างกำหนดไว้ 5 กลุ่ม รวม 20 ตัว เช่น แอมเฟตามีน เมทแอมเฟตามีน LSD ซึ่งกำหนดไม่เกิน 5 หน่วยการใช้ เฮโรอีน ไม่เกิน 300 มิลลิกรัม ฝิ่น ไม่เกิน 5 พันมิลลิกรัม โคเคอีน ไม่เกิน 200 มิลลิกรัม เห็นขี้ควาย ไม่เกิน 1.35 แสนมิลลิกรัม สาร THC กัญชา ไม่เกิน 3 หมื่นมิลลิกรัม กลุ่มยานอนหลับ ซึ่งมีหลายตัว ส่วนใหญ่ไม่เกิน 10 หน่วยการใช้ เป็นต้น โดยขณะนี้ได้ให้ประชาชนและหน่วยงานต่างๆ แสดงความคิดเห็นผ่าน Google Form ลิงก์ https://docs.google.com/forms/d/1a-zm5mMqfWTrTa88YLOltuWPGXluj6eQrU4cq7AJvHs/viewform?edit_requested=true เปิดให้แสดงความคิดเห็นได้ตั้งแต่วันที่ 9-23 พ.ย. 2566 รวมทั้งหมด 15 วัน โดยมีการแนบเอกสารคำอธิบายความเป็นมาและเหตุผลของร่างกฎกระทรวง รายละเอียดร่างกฎกระทรวง เอาไว้
อ่านเพิ่ม : ไม่ได้มีแค่ยาบ้า 5 เม็ด เปิดชื่อ-ปริมาณ "ยาเสพติด-วัตถุออกฤทธิ์" ร่างกฎกระทรวงสันนิษฐาน "ผู้เสพ" พบรวม 20 ตัว
ทั้งนี้ ผู้แสดงความคิดเห็น จะต้องกรอกชื่อ สกุล ตำแหน่ง หน่วยงาน เบอร์โทรศัพท์ ส่วนการแสดงความคิดเห็น จะเป็นการให้เลือกพิจารณารับรองร่างกฎกระทรวงดังกล่าว โดยมีตัวเลือกคือ รับรองการร่างกฎกระทรวง โดยไม่มีข้อแก้ไขเพิ่มเติม , รับรองการร่างกฎกระทรวงฯ โดยมีข้อแก้ไขดังนี้ , ไม่รับรองการร่างกฎกระทรวงฯ และอื่นๆ ซึ่งจะมีช่อง "ข้อแก้ไข" ให้พิมพ์แสดงความคิดเห็น ก่อนที่จะกดส่งความคิดเห็น
สำหรับความเป็นมาที่ปรากฏแบบเสนอข้อคิดเห็น ระบุว่า ร่างกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. ... เป็นการกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ประเภท 2 หรือประเภท 5 หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 ในปริมาณเล็กน้อยที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดเจตนารมณ์ใช้ประกอบการพิจารณาให้โอกาแก่ผู้เสพผู้ติดยาเสพติดที่ครอบครองยาเสพติดหรือวัตถุออกฤทธิ์ไว้เพื่อการเสพ โดยไม่ถือเป็นโทษความผิดร้ายแรง และพิจารณาให้รับการบำบัด โดยจะต้องพิจารณาควบคู่กับพฤติกรรมอื่นที่เกี่ยวกับการจำหน่ายยาเสพติด หรือระดับความรุนแรงของการเสพติด
ส่วนคำอธิบายหลัก ระบุว่า เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีความสอดคล้องและเหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน และควบคุมการใช้ประโยชน์ยาเสพติดในทางการแพทย์ ทางวิทยาศาสตร์ และทางอุตสาหกรรม รวมถึงเพื่อป้องกันการแพร่กระจายยาเสพติดและการใช้ยาเสพติดในทางที่ไม่ถูกต้องอันจะนำไปสู่การติดยาเสพติด ขณะที่เหตุผลระบุว่า เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามมาตรา 107 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่กำหนดให้การมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ประเภท 2 หรือประเภท 5 หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 ในปริมาณเล็กน้อย ซึ่งไม่เกินปริมาณที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนดในกฎกระทรวงให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ