"ชลน่าน" ย้ำครอบครอง-เสพ-ค้า "ยาบ้า" ไม่ว่ากี่เม็ด มีความผิดตามกฎหมาย หากกำหนดไม่เกิน 5 เม็ด เปิดโอกาสให้สมัครใจเข้าบำบัด ในทุกขั้นตอนดำเนินคดี หากผ่านคอร์สถือว่าไม่มีความผิด เชื่อช่วยตัดวงจรไปค้ายา คาดเสนอเข้า ครม.ได้ปลาย พ.ย.นี้
เมื่อวันที่ 7 พ.ย. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเสนอกำหนดจำนวนเมทแอมเฟตามีนหรือยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ด สันนิษฐานเป็นผู้เสพ ว่า หลักการของเรื่องนี้ คือ ผู้ใดมียาเสพติดไว้ในครอบครอง ไม่ว่าเพื่อเสพ เพื่อค้า ผิดกฎหมายทั้งหมด ไม่ต้องไปสนใจจำนวนเม็ด ถ้ามีพฤติกรรมพิสูจน์ได้ว่าค้าผิดกฎหมายหมด เสพก็เช่นกัน มีพฤติกรรมการเสพแม้ไม่มีตัวยาอยู่ในมือ แต่สามารถตรวจพบปัสสาวะสีม่วงในร่างกายก็ถือว่าเสพ ตรงนี้ผิดทั้งหมด เช่น เสพยาบ้ามีโทษติดคุก 1 ปี ปรับ 2 หมื่นบาท ถ้าครอบครองยาบ้า 1 เม็ด ติดคุก 2 ปี ปรับ 4 หมื่นบาท แต่ถ้าเพื่อการค้า 1 เม็ด ติดคุก 1-15 ปี ปรับน่าจะเป็นล้านบาท แต่หลักการกฎหมายฉบับนี้ นอกจากจะป้องกับและปราบปรามแล้ว ยังมีความเชื่อว่าถ้าให้โอกาสคนไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด กลับเนื้อกลับตัวกลับใจเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา
"เมื่อบำบัดรักษาจนเป็นที่น่าพอใจ เป็นไปตามเงื่อนไข จนได้รับการรับรอง สำคัญคือสมัครใจ ถึงได้รับการยกเว้นว่าไม่มีความผิดจากที่มีความผิด เช่น มียาบ้า 1 เม็ด ก่อนถูกตำรวจจับ สมัครใจขอบำบัด ดำเนินตามขั้นตอนบำบัดครบได้รับหนังสือรับรอง ก็เป็นผู้ไม่มีความผิด แต่ถ้าบำบัดไป 2 สัปดาห์แล้วหนีก็ผิด" นพ.ชลน่านกล่าว
นพ.ชลน่านกล่าวว่า แม้กระทั่งตำรวจจับแต่ไม่สมัครใจบำบัด มีการถือครองยาบ้า 5 เม็ด ตำรวจก็สามารถใช้ดุลยพินิจ บอกว่าควรเข้าบำบัดรักษาถ้าสมัครใจ ก็ส่งไปบำบัดรักษาเข้ากระบวนการก็ไม่มีความผิด หรือแม้ไม่สมัครใจแล้วส่งฟ้องศาล ถ้าศาลเห็นว่าคนนี้ควรให้โอกาส และเขาสมัครใจขณะอยู่ในชั้นศาล และอัยการเห็นด้วย ศาลก็ส่งไปบำบัด หากผ่านตามเกณฑ์บำบัดก็ยุติคดี แต่ถ้าไม่ผ่านตามเกณฑ์ก็นำคดีมาพิจารณาใหม่ จะเห็นว่า ไม่ว่าอยู่ขั้นตอนไหนเขาให้คนกลับใจสมัครใจเข้ารับการบำบัด เพราะเชื่อว่าการบำบัดรักษาจะเป็นการตัดวงจรค้ายาเสพติดที่ดีที่สุด และเมื่อผ่านการบำบัดรักษาจะมีการฟื้นฟูสภาพร่างกาย จิตใจ และสังคม หลังจากอยู่ในสถานบำบัดแล้วก็เข้าค่ายบำบัด เพื่อฟื้นฟูสถานภาพทางสังคม ดูเรื่องพฤติกรรม อาชีพ โอกาสอยู่ในสังคมได้ปกติมีอะไรก็เติมเต็มให้เขาและคืนกลับสังคม นี่เป็นหลักของกฎหมาย
ถามว่าขั้นตอนหลังจากนี้ในการออกกฎกระทรวงกำหนดจำนวนเม็ดยาจะต้องทำอย่างไรต่อ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ตามระเบียบการออกกฎกระทรวง หลังตนได้รับแจ้งจากคณะกรรมการฯ แล้ว ไม่เฉพาะยาบ้า แต่มียาเสพติดตัวอื่นด้วย เราก็ยกร่างกฎกระทรวงเสนอ ครม. เพื่อเห็นชอบในหลักการ แต่ก่อน ครม.เห็นชอบ สำนักงานเลขาธิการ ครม.ต้องเอาร่างกฎกระทรวงไปสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดก่อนว่า 5 เม็ดเห็นอย่างไร ถ้ามีข้อทักท้วงก็อาจต้องนำมาพิจารณาใหม่ แต่หากเห็นชอบทั้งหมด ครม.ก็จะมีมติเห็นชอบกับร่างที่เสนอเข้ามา ตนจึงมีหน้าที่ไปลงนามในร่างกฎกระทรวงและประกาศในราชกิจจานุเบกษาและบังคับใช้ได้ ซึ่งจะพยายามเร่งตามที่นายกฯ เร่งรัดมา คาดว่าจะเสนอ ครม.ได้ในช่วงปลาย พ.ย. และต้นเดือน ธ.ค.ก็อาจจะประกาศได้