"ชลน่าน" ไม่มีความเห็นหลังสรุปเคาะยาบ้า 5 เม็ดเป็นผู้เสพ แจงไม่ได้เป็นคนเสนอ 10 เม็ด เป็นแค่ความเห็นของที่ประชุมก่อนหน้านี้ ย้ำต้องผ่านการบำบัด มีหนังสือรับรองจึงไม่มีความผิดตามกฎหมาย
เมื่อวันที่ 5 พ.ย. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ประชุมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปเสนอจำนวนการครอบครองเมทแอมเฟตามีนหรือยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ด ให้สันนิษฐานเป็นผู้เสพ ที่ต้องเข้ารับการบำบัด ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเสนอ 10 เม็ด ว่า ตนไม่มีความเห็นอะไร เพราะได้มอบให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหารือถึงปริมาณที่เหมาะสมที่สุด ภายใต้เหตุผลที่รองรับทุกมิติ ตนไม่ได้เป็นคนเสนอ 10 เม็ด แต่เป็นส่วนหนึ่งของกรรมการพิจารณาที่เสนอเข้ามา ตนจึงได้ยกตัวอย่างขึ้นมา ซึ่งเป็นหน้าที่ของ รมว.สธ. ที่ต้องออกกฎกระทรวง อย่างไรก็ตาม เพื่อความรอบคอบ ตนจึงให้มีการประชุมพิจารณาเรื่องนี้เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2566 มติเป็นเอกฉันท์ว่ากำหนดไว้ที่ 5 เม็ด
“ตาม พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 กำหนดว่าให้ รมว.สธ. กำหนดปริมาณสารเสพติด ประเภทที่ 1 เพื่อให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้เสพ นอกจากนั้น ยังต้องกำหนดปริมาณสารเสพติดในประเภทที่ 2 และ 5 ด้วย อย่างการถือครองยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ด ถ้าเกิน 5 เม็ดจะถือเป็นผู้ครอบครองเพื่อจำหน่าย หรือแม้แต่ถ้ามีพฤติกรรมการจำหน่าย ไม่ว่าจะถือกี่เม็ด ก็เท่ากับเป็นการครอบครองเพื่อจำหน่าย” นพ.ชลน่านกล่าว
นพ.ชลน่านกล่าวว่า เมื่อสันนิษฐานว่าเป็นผู้เสพแล้ว ยังต้องสืบสวนเพิ่มเติมตามหลักฐานด้วย ซึ่งหากเป็นผู้เสพจริง สมัครใจเข้าบำบัดรักษา ก็ต้องมาดูว่าเขาอยู่ระยะไหนที่มีตั้งแต่ ผู้ใช้ ที่จะใช้ยาเสพติดเป็นครั้งคราว ผู้เสพ ใช้บ่อยมากขึ้นมีอาการอยากใช้ยาต่อ และ ผู้ติดยาเสพติด ซึ่งต้องเข้าสู่กระบวนการถอนฤทธิ์ยาในสถานพยาบาล ซึ่งกลุ่มผู้ติดยาจะใช้การบำบัดไม่น้อยกว่า 4-6 เดือน การดูแลจะมีตั้งแต่ระยะแรก ไปจนถึงระยะยาวที่เรียกว่า Long Term Care ใช้เวลา 4-6 เดือน เมื่อฟื้นฟูสภาพทางกายและใจได้แล้ว ผอ.สถานบำบัดรักษายาเสพติดจะออกหนังสือรับรองให้ว่า ผ่านการบำบัดรักษาฟื้นฟู จึงจะถือว่า ไม่มีความผิด ฉะนั้น ต้องย้ำว่าต้องมีหนังสือรับรองการบำบัดตามกระบวนการ จึงจะไม่มีความผิด” นพ.ชลน่านกล่าว
เมื่อถามถึงความพร้อมบำบัดผู้ป่วยยาเสพติด นพ.ชลน่านกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่เป็นที่น่ากังวล เพราะ สธ.มีนโยบายรองรับเรื่องนี้ชัดเจน โดยจัดตั้ง "มินิธัญญารักษ์" ที่ตั้งเป้าในทุกจังหวัดภายใน ธ.ค. นอกจากนั้น ยังมีหอผู้ป่วยจิตเวชใน รพ.ชุมชนเกือบทุกแห่ง และ สธ. ก็จะผลักดันให้เกิดศูนย์ชุมชนบำบัดให้มากที่สุดด้วย ซึ่งกระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพ โดยมี สธ. เป็นกรรมการศูนย์ฯ หลายๆ หน่วยงานมาช่วยกันดูแล เพื่อเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สร้างเส้นทางอาชีพใหม่ การใช้ธรรมะเพื่อให้ผู้ที่เคยใช้ยาเสพติดไม่กลับไปใช้ยาอีก ทั้งหมดนี้เป็นการฟื้นฟูสภาพก่อนกลับเข้าสู่สังคม