xs
xsm
sm
md
lg

เรียนรู้ - การปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ฝุ่นในปัจจุบัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นวพร กาญจนศิรานนท์
คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


มลพิษทางอากาศ นับเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมอันดับต้นๆ ของประเทศไทย โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ซึ่งการรับสัมผัส PM2.5 ในระยะยาวอาจนำไปสู่สาเหตุการเกิดมะเร็งปอดได้ นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่และรูปแบบการใช้ชีวิตของประชาชนผู้รับสัมผัสอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (2565) ได้รายงานปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน PM 2.5 มีค่าเกินค่ามาตรฐาน และมีการแพร่กระจายทั่วทุกภาค ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งภาคอื่น ๆ ของประเทศ ทั้งนี้ เป็นที่สังเกตว่าจำนวนของผู้ป่วยที่มีอาการทางระบบทางเดินหายใจนั้น มีแนวโน้มสัมพันธ์กับค่าความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว ได้แก่ เดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนมีนาคม ทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพจากการรับสัมผัสฝุ่นที่เพิ่มขึ้น และปัญหาฝุ่น PM 2.5 ยังสามารถส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ เช่น การท่องเที่ยวอีกด้วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นวพร กาญจนศิรานนท์ อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาวนี้ คาดการณ์ว่าสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 มีโอกาสที่จะรุนแรงขึ้นจากปีก่อนๆ โดยเฉพาะตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 จนถึงกลางปี 2567 เนื่องจากว่าตอนนี้โลกของเราได้เข้าสู่สภาวะเอลนีโญ โดยก่อนที่จะเข้าสู่สภาวะเอลนีโญนั้น ประเทศไทยได้เผชิญกับสภาวะลานีญาที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 ถึงช่วงต้นปี พ.ศ. 2566 โดยปรากฏการณ์ลานีญา จะทำให้ฝนตกหนักและมีปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้น แต่เมื่อช่วงกลางปี 2566 เป็นต้นมา โลกของเราได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งจะทำให้เกิดความแห้งแล้งในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งประเทศไทยด้วย อย่างที่เราเห็นว่าในปีนี้ มีปริมาณฝนตกน้อยลงและฝนมาช้ากว่าปกติ จึงทำให้เกิดความแห้งแล้งที่หนักกว่าปีที่ผ่านมา จากข้อมูลสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA คาดการณ์ว่า ภาคเหนือของประเทศไทยจะมีจุดความร้อนเพิ่มขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งเกิดจากภัยแล้งและปริมาณฝนที่ตกน้อยลง โดยภาวะภัยแล้ง จะส่งผลให้แนวโน้มที่จะเกิดไฟป่าในบางพื้นที่มากขึ้นและเกิดปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดนอีกด้วย เราอาจเคยได้ยินว่า ฝนสามารถช่วยลดปริมาณฝุ่นในบรรยากาศได้ แต่ที่ผ่านมาถ้าเป็นฝุ่น PM2.5 นั้น ปริมาณฝนที่ตกจะต้องมากเพียงพอที่จะช่วยลดปริมาณของฝุ่น PM2.5 ในบรรยากาศลงได้บ้าง แต่อย่างไรก็ตาม ปริมาณฝนที่ตกมากๆ จะช่วยลดปริมาณฝุ่น PM2.5 ได้เพียงแค่ส่วนน้อยเท่านั้น และเนื่องจากในปีนี้ จะมีปริมาณฝนน้อยและค่อนข้างเบาบาง เนื่องจากผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งปริมาณฝนที่น้อยลงจึงแทบไม่ได้ช่วยให้ความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 ในบรรยากาศลดลงได้เลย นอกจากนี้ในฤดูหนาวยังมีลักษณะอากาศ ที่เรียกว่า สภาพอากาศปิด เนื่องจากมีชั้นอากาศร้อนหรือชั้นอินเวอร์ชันปกคลุมอยู่ด้านบนชั้นอากาศเย็น โดยลักษณะอากาศแบบนี้จะทำให้สารมลพิษไม่สามารถระบายและลอยสูงขึ้นไปได้ ซึ่งจะทำให้ฝุ่น PM2.5 เกิดการสะสมและส่งผลให้ค่าความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 สูงขึ้นด้วย ทั้งนี้ ในช่วงเดือนมีนาคมและเดือนเมษายน ปี 2567 ซึ่งตรงกับฤดูแล้งของประเทศไทย ปริมาณฝุ่น PM2.5 ก็อาจมีแนวโน้มที่สูงขึ้นได้เช่นกัน เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกน้อยมากๆ ประกอบกับความแห้งแล้งซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดไฟป่าได้อีกด้วย


สำหรับสภาวะโลกร้อน อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณฝุ่น PM2.5 ในบรรยากาศ เนื่องจากสภาวะโลกร้อนจะทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น และจะก่อให้เกิดสภาวะอากาศสุดขั้วหรือรุนแรง โดยจะเห็นได้ว่าในช่วงหน้าแล้งก็จะแล้งจัด หรือถ้าหน้าฝน ฝนก็จะตกหนักมาก จนทำให้เกิดน้ำท่วมหนักในบางพื้นที่ โดยการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศอันเนื่องมาจากสภาวะโลกร้อนนั้น จะทำให้ปริมาณน้ำฝนเปลี่ยนแปลงไป อากาศร้อนก็จะร้อนและแล้งขึ้น ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดไฟป่าได้มากขึ้นและปริมาณฝุ่น PM2.5 ในบรรยากาศก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ ภาวะโลกร้อนยังส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพด้วย เนื่องจากว่าสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติบางชนิดที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศแบบนี้ อาจเกิดการเสียชีวิตและสูญพันธุ์ได้ในที่สุด

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นวพร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับวิธีการรับมือกับปัญหาฝุ่น PM2.5 นั้น ภาครัฐควรมีมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ โดยที่ผ่านมาภาครัฐได้มีการรายงานค่าฝุ่นรวมทั้งมีการคาดการณ์และการแจ้งเตือนค่าฝุ่นล่วงหน้า เพื่อเป็นการเตือนให้ประชาชนระมัดระวังตัวเองและวางแผนในการป้องกันตัวเองได้ นอกจากนี้ ข้อมูลดังกล่าวยังสามารถนำมาวิเคราะห์และออกมาตรการระยะสั้นต่าง ๆ ได้ ยกตัวอย่างเช่น ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแหล่งกำเนิดที่มาจากยานพาหนะเป็นหลัก เช่น กรุงเทพฯและปริมณฑล โดยในช่วงที่มีปริมาณฝุ่นสูงนั้น ควรมีการปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้เป็นแบบออนไลน์ รวมทั้งรูปแบบการทำงานให้เป็นแบบ Work from Home นอกจากนี้ควรมีการตรวจจับควันดำอย่างเข้มงวด และประกาศสั่งห้ามรถดีเซลวิ่ง สำหรับมาตรการระยะยาว ได้แก่ การสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้บริการรถสาธารณะหรือรถไฟฟ้ามากขึ้น การเปลี่ยนรถสาธารณะให้เป็นรถพลังงานไฟฟ้า การกำหนดมาตรการอายุการใช้งานของรถแต่ละประเภท เป็นต้น ในส่วนของมาตรการในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการเผาชีวมวลหรือไฟป่า ควรมีการควบคุมดูแลในช่วงที่มีการเผาอย่างต่อเนื่อง การเฝ้าระวังสถานการณ์เผาและไฟป่า การประกาศให้เลิกเผา และการกำหนดบทลงโทษกับบุคคลที่ฝ่าฝืน เป็นต้น นอกจากนี้ควรมีนโยบายสนับสนุนการเพิ่มมูลค่าให้กับของเสียชีวมวล เพื่อเป็นแรงจูงใจไม่ให้เกิดการเผาชีวมวล เช่น การนำชีวมวลไปหมักทำปุ๋ย รวมทั้งการนำไปแปรรูปหรือกำจัดในรูปแบบอื่น ๆ แทนการเผาทำลาย เป็นต้น นอกจากนี้ภาครัฐควรจะต้องมีการวางแผนเพื่อทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อให้มีนโยบายเกี่ยวกับการจัดการปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดนต่อไปในอนาคต

สำหรับการรับมือและการเตรียมตัวเมื่อเราต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่นที่จะกำลังจะเกิดขึ้นนั้น ควรเริ่มจากการตรวจสอบข้อมูลคุณภาพอากาศในพื้นที่ที่ตัวเองอยู่ หรือบริเวณที่เรากำลังจะเดินทางไปเพื่อทำงาน หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ว่ามีค่าฝุ่นมากหรือน้อยเท่าไร โดยการติดตามข่าวสารหรือการรายงานคุณภาพอากาศจากหน่วยงานผู้รับผิดชอบ เพื่อที่เราจะได้มีการวางแผนเตรียมตัวหรือเพื่อหลีกเลี่ยงการไปในบริเวณพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นสูง หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ แนะนำให้ใช้วิธีการลดระยะเวลาการสัมผัสฝุ่น โดยการลดระยะเวลาการอยู่นอกอาคารและควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งด้วย โดยในกรณีที่มีเหตุจำเป็นต้องอยู่ภายนอกอาคาร เช่น บุคคลที่ต้องทำงานกลางแจ้ง ก็ควรใส่หน้ากากป้องกันฝุ่น ได้แก่ หน้ากาก N95 หรือ หน้ากากอนามัย 2 ชั้น เพื่อลดการสัมผัสฝุ่นให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ผู้ที่ทำงานกลางแจ้งควรพยายามหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งเท่าที่ทำได้ โดยหากเป็นไปได้ควรหาเวลาพักแล้วให้เข้าไปอยู่ในอาคาร เช่น เวลาพักระหว่างทำงานหรือเวลาพักเที่ยง เป็นต้น สุดท้ายนี้ คือ ประชาชนกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ต้องระมัดระวังตัวมากขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการออกนอกอาคารในวันที่ฝุ่นมีค่าปานกลางไปจนถึงค่าสูง และนอกจากนี้ควรสังเกตอาการตัวเองว่ามีอาการต่างๆ ที่เกิดจากฝุ่น PM2.5 หรือไม่ เช่น ไอ หายใจลำบาก ผื่นผิว แน่นหน้าอก มีเสมหะ มีเลือดกำเดาไหล เป็นต้น ถ้าหากพบอาการผิดปกติเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์ นอกจากการอยู่ในอาคาร จะช่วยลดการรับสัมผัสฝุ่น PM2.5 ได้แล้วนั้น เมื่อเราอยู่ภายในอาคาร เราควรปิดประตูและหน้าต่างให้มิดชิด เพื่อป้องกันฝุ่น PM2.5 ไม่ให้เข้าภายมาในอาคารได้ ซึ่งสิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงอีกอย่าง คือ กิจกรรมที่เกิดขึ้นภายในอาคาร เนื่องจากกิจกรรมภายในอาคารก็เป็นอีกปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อปริมาณฝุ่นภายในอาคารด้วยเช่นกัน เช่น การจุดธูป การปรุงอาหาร หรือการหุงต้มด้วยถ่านไม้หรือฟืน การปิ้งย่าง เป็นต้น โดยเราควรงดกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ด้วย


ปัญหาฝุ่นเป็นปัญหาระดับโลก ซึ่งเกิดขึ้นในหลายๆประเทศและหากไม่มีวิธีการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ ก็อาจมีความเป็นไปได้ว่าปัญหานี้จะมีแนวโน้มที่รุนแรงและยาวนานขึ้นในอนาคต อย่างที่เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าปัจจัยที่ทำให้ค่าฝุ่น PM2.5 สูง จะเกิดจากธรรมชาติ (เช่น ไฟป่า) และกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดจากมนุษย์ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยทางอุตุนิยมวิทยาต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่ปัจจัยอุตุนิยมวิทยาต่างๆ นี้ จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและมนุษย์ไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด คือ การจัดการที่แหล่งกำเนิด นอกจากนี้ เราควรคำนึงถึงองค์ประกอบทางเคมีของฝุ่น PM2.5 ด้วยเช่นกัน เนื่องจากว่าฝุ่น PM2.5 จะมีสารอื่นๆ เป็นองค์ประกอบเกาะติดมาด้วย เช่น สารโลหะหนัก สารไดออกซิน และกลุ่มสาร PAHs เป็นต้น ซึ่งสารบางตัวเป็นสารก่อมะเร็ง เช่น สาร benzo(a)pyrene ถ้าหากเราจะหายใจรับเอาทั้งฝุ่นและสารต่างๆ เหล่านี้เข้าไปในร่างกายในปริมาณที่สูงเพียงพอและนานพอ ก็จะทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งได้ ดังนั้นเราควรมีการตรวจวัดสารอันตรายเหล่านี้ในบรรยากาศว่ามีค่าเท่าไร และควรมีการกำหนดค่ามาตรฐานของสารเหล่านี้ด้วย นอกจากการศึกษาเรื่ององค์ประกอบทางเคมีของฝุ่นจะมีความสำคัญในแง่ของผลกระทบต่อสุขภาพแล้วนั้น การวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของฝุ่น ยังสามารถบอกถึงแหล่งกำเนิดของฝุ่นได้เช่นกัน

ในปัจจุบัน กรมควบคุมมลพิษได้มีการปรับค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 ในบรรยากาศ เฉลี่ย 24 ชั่วโมง จาก 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็น 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งการปรับค่ามาตรฐานที่เข้มงวดขึ้นนั้น ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะช่วยเป็นแรงผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาฝุ่นในภาคส่วนต่างๆ ให้เข้มงวดยิ่งขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญมากๆ ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ การมีมาตรการ นโยบาย และกฎหมายในการจัดการปัญหาฝุ่นPM2.5 ที่เข้มงวดและครอบคลุมทุกภาคส่วนด้วยเช่นกัน เพื่อให้สอดคล้องกับค่ามาตรฐานใหม่ที่ได้กำหนดขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น