"ชลน่าน" เผย "Saima" จากบังกลาเทศ ชนะเลือกตะงเป็น ผอ.อนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คนใหม่ แทน "ปูนาม" หมดวาระ ม.ค. 67 เข้ายินพร้อมเชิญเยือนไทยหารือพัฒนางานสาธารณสุข
เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่โรงแรมเลอเมอริเดียน กรุงนิวเดลี สาธารณัฐอินเดีย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สมัยที่ 76 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 ต.ค. - 2 พ.ย. 2566 ว่า ในวันนี้ ประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 11 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน เกาหลีเหนือ อินเดีย อินโดนีเซีย มัลดีฟส์ เมียนมา เนปาล ศรีลังกา ไทย และติมอร์เลสเต ได้เข้าร่วมการเลือกตั้ง ผอ.อนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (WHO SEARO) คนใหม่ ที่จะมาแทน ดร.ปูนาม เกตระปล ซิงห์ จากประเทศอินเดีย ซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2557 และจะครบ 2 วาระ วาระละ 5 ปี ใน ม.ค.2567 โดยการเลือกตั้งในครั้งนี้มีผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้ง 2 ท่าน คือ Ms.Saima Wazed Hossain จากบังกลาเทศ และ Dr. Shambhu Prasad Acharya จากเนปาล
นพ.ชลน่านกล่าวว่า กระบวนการเลือกตั้งประกอบด้วย Web forum เป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกตั้งคำถามกับผู้สมัครผ่านทางเว็บไซต์ ระหว่างวันที่ 4 - 17 ก.ย. 2566, Live candidate live forum เป็นการสัมภาษณ์ผู้สมัครผ่านทางระบบออนไลน์ ในวันที่ 18 ต.ค. 2566 และการเลือกตั้งในที่ประชุมคณะกรรมการองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สมัยที่ 76 โดยใช้วิธีลงคะแนนแบบลับ (secret ballot) ผลการเลือกตั้ง Ms.Saima ชนะด้วยคะแนนเสียง 8:2 เสียง ซึ่งตนและคณะผู้แทนของประเทศไทยได้ร่วมแสดงความยินดีกับ Ms.Saima และได้เชิญให้เดินทางมาประเทศไทยเพื่อหารือเรื่องงานต่างๆ หลังเข้ารับตำแหน่ง โดยเฉพาะความร่วมมือกันในการพัฒนางานสาธารณสุขในภูมิภาคต่อไป
สำหรับ Ms.Saima Wazed Hossain ปัจจุบันอายุ 49 ปี เป็นบุตรีของ นางชีค ฮาสินา นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นบุตรีของ นายชีค มูจิบู เราะห์มาน ประธานาธิบดีคนแรก และเป็นบิดาผู้ก่อตั้งประเทศบังกลาเทศ โดย Ms.Saima เป็นนักจิตวิทยา ขณะนี้กำลังศึกษาปริญญาเอกเป็น Doctoral candidate, school of education, Barry University, USA มีความเชี่ยวชาญด้าน Neurodevelopmental disorders and Mental health และเป็นนักเคลื่อนไหวออทิสติก มีบทบาทในการขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าว ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ รวมทั้งเป็นสมาชิกขององค์การอนามัยโลก คณะที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต