"ชลน่าน" ไม่ได้เห็นด้วยหรือค้าน ข้อเสนอเปิดผับตี 4 แต่ต้องให้ข้อมูลผลกระทบรอบด้านรัฐบาลไปชั่งน้ำหนัก หากเดินหน้าเปิดถึงตี 4 จริง ต้องทำ 3 เรื่องรองรับ ทั้งแก้กฎหมายควบคุมน้ำเมา หลังจำกัดเวลาขาย 11.00 - 14.00 น. และ 17.00 ถึงเที่ยงคืน มีมาตรการป้องกันอุบัติเหตุ และพื้นที่โซนนิ่ง
เมื่อวันที่ 30 ต.ค. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีข้อเสนอขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงถึงตี 4 ว่า เรื่องนี้เป็นนโยบายของรัฐบาล ในมุมของ สธ. ดูมิติเชิงสุขภาพ ฉะนั้น การขยายเวลาเปิดผับบาร์ถึงตี 4 ได้หรือไม่ ไม่เกี่ยวกับ สธ. แต่สิ่งที่เกี่ยวข้องคือ เมื่อมีนโยบายนี้ขึ้นมา สธ.จะต้องนำมิติที่เกี่ยวข้องไปรองรับ คือ ส่วนที่ 1 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ที่ตอนนี้กำหนดว่าสามารถจำหน่ายได้ตั้งแต่เวลา 11.00 - 14.00 น. และ 17.00 - 24.00 น. ซึ่งเมื่อมีนโยบายดังกล่าวแล้ว ก็ต้องมาดูว่าจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายนี้หรือไม่ ถ้าหากท่านนายกรัฐมนตรี ให้นโยบายว่าจะต้องทำให้สอดรับกัน ก็ต้องไปดูกฎหมายแม่ ถ้า สธ.มีอำนาจในการพิจารณา ก็ต้องมาดูตรงนั้น
ส่วนที่ 2 นโยบายสุขภาพที่สามารถรองรับได้ เช่น การตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ที่จะมีผลต่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน การเกิดอุบัติเหตุ นี่เป็นมิติของเราที่ต้องป้องกันการเกิดการบาดเจ็บ ซึ่งเราต้องเสนอไปว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีมาตรการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์อย่างไร เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน และส่วนที่ 3 การเข้าไปรองรับกรณีที่มีการกำหนดพื้นที่หรือโซนนิ่ง โดย สธ.จะต้องเข้าไปรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นที่จะเกิดอันตรายต่อสุขภาพประชาชนในโซนนิ่งนั้นๆ เช่น การเตรียมห้องอุบัติเหตุฉุกเฉิน ทั้งหมดนี้เป็นส่วนของเรา
เมื่อถามย้ำว่า สธ. ไม่ได้มีส่วนแสดงความเห็นว่าสามารถขยายเวลาได้หรือไม่ แต่ถ้ามีมติออกมาว่าจะต้องขยายเวลาจริง สธ. มีหน้าที่เตรียมความรองรับนโยบายของรัฐบาลใช่หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ถูกต้อง เพราะต้องมีมาตรการรองรับเพื่อไม่ให้มีผลต่อสุขภาพ
ถามต่อว่าการพิจารณาขยายเวลาเปิดผับบาร์ สธ. สามารถแสดงจุดยืนเพื่อคัดค้านได้หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า หากถามว่าค้านได้หรือไม่ ต้องอธิบายว่าในมุมของนโยบาย มีการคิดเชิงหลักการหลายปัจจัย ทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมหรือเทคโนโลยีสารสนเทศ เรามีมิติทางสังคมเรื่องการดูแลสุขภาพ เราก็จะให้ผลลัพธ์ไปว่า จะเป็นอย่างไร เพื่อให้เขาชั่งน้ำหนักว่าจะทำอย่างไร ถ้าสิ่งที่เราให้เหตุผลว่ากระทบต่อมิติสุขภาพประชาชนมากกว่าเศรษฐกิจ เขาก็อาจจะปรับได้
“เราไม่ได้เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย แต่มีหน้าที่ของตัวเอง ในการรองรับนโยบายนี้ให้ดีที่สุดอย่างไร โดยไม่มีผลต่อสุขภาพประชาชน” นพ.ชลน่านกล่าว