xs
xsm
sm
md
lg

นายกสภาแพทย์แผนไทย แจงเหตุผลไม่ตรวจข้อสอบ 0 คะแนนใหม่หลังถูกร้อง ย้ำผู้สอบต้องรับผลผิดพลาดของตัวเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายกสภาแพทย์แผนไทย แจงสมาคมรักษ์แผนไทยร้องเรียน "ชลน่าน" ให้ตรวจสอบการบริหารงานและกรณีบุคลากรสอบได้ 0 คะแนน ย้ำผู้สอบต้องรับผลความผิดพลาดของตัวเอง หากฝนรหัสผิด ไม่ถูกต้อง พบมี 234 คน อุทธรณ์ 69 คน ฟ้องศาลปกครองเหลือ 10 คน สะท้อนคนส่วนใหญ่เข้าใจปัญหา

เมื่อวันที่ 27 ต.ค. ดร.ชนิญญา ชัยสุวรรณ นายกสภาการแพทย์แผนไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีสมาคมรักษ์แผนไทยเดินทางมาร้องเรียนต่อ รมว.สาธารณสุข วันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา ขอให้ตรวจสอบการบริหารงานและกรณีบุคลากรแพทย์แผนไทยสอบแต่ได้ 0 คะแนน ซึ่งการตรวจสอบยังไม่เสร็จข้อสรุปเป็นอย่างไร ว่า การสอบวิชาแพทย์แผนไทยเมื่อปี 2566 ที่ได้คะแนน 0 คะแนน สภาฯ ไม่สามารถตรวจให้ได้ตามข้อเรียกร้อง เนื่องจากการสอบดังกล่าวเป็นแบบปรนัยใช้ดินสอระบายในกระดาษคำตอบ ซึ่งใช้กันมานานในการสอบของมหาวิทยาลัยรามคำแหง มีรูปแบบสอบเหมือนการสอบ ก.พ. ทั้ง กทม. และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งใช้กันมานาน ที่สำคัญก่อนจะสอบสภาฯ ได้ออกประกาศชัดเจนว่า สอบลักษณะไหน ต้องใช้อะไร ดินสอระบายต้องไม่ต่ำกว่า 2B ถือเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้เข้าสอบที่ต้องทราบเลขประจำตัวสอบของตัวเอง และต้องระบายรหัสเลขประจำตัวสอบให้ถูกต้องตามที่คณะอนุกรรมการอำนวยการจัดสอบความรู้ฯ ประกาศ

"หากระบายผิด ระบายไม่ครบถ้วน ระบายในตำแหน่งที่ไม่ถูกต้อง ระบายรหัสซ้ำกับผู้เข้าสอบคนอื่น ระบายจาง ระบายด้วยปากกา หรือไม่ระบาย ซึ่งเป็นความผิดพลาด บกพร่อง ที่ผู้เข้าสอบต้องรับผิดชอบ และรับผลเสียหายที่เกิดขึ้นเอง เครื่องตรวจกระดาษคำตอบจะไม่สามารถทำการตรวจให้คะแนนได้ ซึ่งเครื่องตรวจกระดาษคำตอบจะตรวจตามข้อมูลที่ผู้เข้าสอบระบายเท่านั้น หากขีดเขียนหรือระบายอื่นใดนอกเหนือจากที่กำหนด หรือหากเกิดความผิดพลาดใดๆ ในการระบายกระดาษคำตอบอันเกิดจากการกระทำผิดพลาด บกพร่อง ที่ผู้เข้าสอบต้องรับผิดชอบ และรับผลเสียหายที่เกิดขึ้นของผู้เข้าสอบเอง สภาฯ จะไม่รับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น กับผลการตรวจของผู้นั้นที่ได้รับจากเครื่องตรวจกระดาษคำตอบ" ดร.ชนิญญากล่าว

ดร.ชนิญญากล่าวว่า สรุปคือ ในบริเวณสนามสอบมีจุดแสดงรหัสประจำตัวผู้เข้าสอบถึง 5 จุดด้วยกัน ตามจุดต่างๆ ของสถานที่สอบ ทั้งบอร์ดขนาดใหญ่หน้าตึกสอบ บริเวณหน้าห้องสอบ และบนโต๊ะสอบ รวมไปถึงระหว่างการทำข้อสอบจะมีอาจารย์ถือกระดาษไปให้เซ็นยืนยันตัวตนอีกด้วย และรหัสประจำตัวผู้เข้าสอบ อีกทั้งก่อนเข้าสอบมีการประกาศประชาสัมพันธ์ผ่าน facebook สภาการแพทย์แผนไทยบ่อยครั้ง ผู้เข้าสอบทุกคนจะสามารถเห็นรหัสประจำตัวผู้เข้าสอบของตัวเองอย่างแน่นอน ดังนั้น หากใส่เลขรหัสถูกต้องก็จะไม่มีปัญหา ที่สำคัญการสอบครั้งนี้มีทั้งประเภท ก,ข และประเภทประยุกต์ ซึ่งเราประกาศแจ้งชัดเจนว่า หากผู้เข้าสอบคนใดไม่ทำตาม เครื่องตรวจสอบกระดาษคำตอบก็จะไม่ตรวจ ดังนั้น หากเครื่องไม่ตรวจ ทางสภาฯ ก็ไม่สามารถมาตรวจสอบให้ได้ เพราะประกาศบอกชัดว่าเรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบของผู้เข้าสอบทุกคน ซึ่งสนามสอบทั้ง ก.พ. ทั้งกทม.ฯลฯ และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นล้วนยึดถือออกประกาศลักษณะนี้ทั้งสิ้น

"คนที่เข้าสอบมีหลายพันคน กระดาษคำตอบมีเป็นหมื่นๆ เมื่อมีคนไม่ระบายรหัส หรือระบายผิด ระบายไม่ถูกต้องประมาณ 234 เปเปอร์รวมทุกวิชา แต่มีผู้ใช้สิทธิอุทธรณ์ 69 คน และเหลือผู้ร้องเรียน/ฟ้องศาลปกครอง 10 กว่าคน แสดงให้เห็นว่าผู้ที่ได้ 0 คะแนน และผู้ใช้สิทธิอุทธรณ์ส่วนใหญ่เข้าใจและรับทราบปัญหานี้ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้จึงอยากให้ทบทวนและพิจารณาดีๆว่า ปัญหาเกิดจากอะไร" ดร.ชนิญญากล่าว

ถามว่ามีการร้องเรียนเรื่องการขอดูกระดาษคำตอบต้องมีการเสียค่าใช้จ่ายด้วย ดร.ชนิญญา กล่าวว่า เป็นข้อบังคับเดิมตั้งแต่สภาฯ ตั้งใหม่ๆ ในช่วงปี 2556 ซึ่งก่อนกรรมการสภาฯชุดนี้มาเสียอีก โดยค่าขออุทธรณ์ประมาณ 500 บาท ค่าถ่ายกระดาษคำตอบเพื่อตรวจดูใบละ 100 บาท ซึ่งเรื่องนี้เป็นข้อบังคับก่อนที่กรรมการฯจะมา และเราก็ดำเนินการตามข้อบังคับเดิมที่มีอยู่แล้ว ไม่ได้คิดใหม่ ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตาม พ.ร.บ.วิชาชีพแพทย์แผนไทย พ.ศ.2556 อีกทั้ง ต้องย้ำว่า ค่าขออุทธรณ์ ไม่ได้หมายความว่าเป็นค่าตรวจให้ผู้เข้าสอบสามารถผ่านการสอบ อย่างการตั้งกรรมการจัดสอบนั้น เราจัดสอบเหมือนการสอบทุกครั้งที่ผ่านมา เพียงแต่การจัดสอบนี้จะรวม อย่างเดิมการสอบ ก. สอบ ข. และการสอบแพทย์แผนไทยประยุกต์จะแยกกันหมด แต่ครั้งนี้นำมาสอบร่วมกัน ซึ่งผู้สอบไม่ได้มีการร้องเรียนใดๆ เพราะการสอบยังเหมือนเดิม เพียงแต่นำ 3 กลุ่มมาสอบในสนามสอบเดียวกัน เป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้เข้าสอบ เพราะเดิมอย่าง ป.ประยุกต์ต้องสอบที่ศิริราชแห่งเดียว แต่ปัจจุบันเลือกสอบได้ มีสนามสอบต่างจังหวัดด้วย

ถามกรณีมีการฟ้องศาลปกครอง ดร.ชนิญญา กล่าวว่า กำลังรอคำสั่งศาลเช่นกันว่า จะให้ดำเนินการอย่างไร


กำลังโหลดความคิดเห็น