สธ.พบเด็กไทยจมน้ำตายปีละเกือบ 700 คน เหตุว่ายน้ำไม่เป็น ขาดทักษะเอาชีวิตรอด และการช่วยเหลือ ลุยจัดกิจกรรม เพิ่มทักษะเด็กไทยกว่า 3,300 คน เอาตัวรอดจากการจมน้ำ ช่วยเหลือและทำ CPR คนจมน้ำเป็น ดันสร้างทีมผู้ก่อการดี ป้องกันการจมน้ำครอบคลุมทุกตำบล
เมื่อวันที่ 26 ต.ค. ที่สระว่ายน้ำกระทรวงสาธารณสุข นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเปิดกิจกรรม “Survival Swimming Skills เพื่อเด็กไทยไม่จมน้ำ” ว่า ปัญหาการจมน้ำเป็นปัญหาสำคัญทั้งระดับโลกและประเทศ จากข้อมูลองค์การอนามัยโลกพบว่า การจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ในกลุ่มเด็กอายุ 5-14 ปี สำหรับประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ปี 2556 – 2566 พบเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิต 6,992 คน เฉลี่ยปีละเกือบ 700 คน โดยเด็กอายุ 1 - 9 ปี เสียชีวิตสูงสุด โดยเฉพาะช่วงปิดเทอมใหญ่หน้าร้อน (มี.ค. - พ.ค.) สาเหตุที่พบบ่อยคือ ขาดทักษะการเอาชีวิตรอดในน้ำและการช่วยเหลือคนตกน้ำ จมน้ำที่ถูกต้อง ขณะที่ผลสำรวจของกรมควบคุมโรค ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2562 พบว่า เด็กไทยอายุ 6 ปีขึ้นไป ว่ายน้ำเป็น ร้อยละ 28.4 และว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอดได้เพียงร้อยละ 9.4 หรือเด็กไทยเกือบ 7 ล้านคนว่ายน้ำเป็นเพียง 1.9 ล้านคน
ทั้งนี้ ประเทศไทยขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันการจมน้ำตามมติสหประชาชาติที่เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกเร่งดำเนินการป้องกันการจมน้ำ ใน 10 ประเด็นหลัก หนึ่งในนั้น คือ สอนให้เด็กทุกคนมีความรู้เรื่องความปลอดภัยทางน้ำ มีทักษะการว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด และปฐมพยาบาลโดยสร้างทีมผู้ก่อการดี (MERIT MAKER) เพื่อป้องกันการจมน้ำให้ครอบคลุมทุกตำบล จนเกิดเป็นผลสำเร็จและเป็นที่ยอมรับขององค์การอนามัยโลก กิจกรรมสำคัญ คือ 1.สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่งมีการให้ความรู้แก่ผู้ปกครองและผู้ดูแลเด็ก ขณะที่พาเด็กมารับวัคซีน/ตรวจพัฒนาการ 2.สนับสนุนให้เด็กแรกเกิด - 2 ปี มีคอกกั้นเด็กใช้ในทุกครัวเรือน และเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มีพื้นที่เล่นที่ปลอดภัย 3.การร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ สนับสนุนให้เด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป สามารถว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอดได้ มีความรู้เรื่องความปลอดภัยทางน้ำ ทักษะการเอาชีวิตรอด วิธีการช่วยเหลือคนตกน้ำ และ 4.ให้เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ทำ CPR เป็น เนื่องจากการปกป้องคุ้มครองเด็กไม่ให้เสียชีวิตจากการจมน้ำเป็นงานสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันแก้ปัญหา เพื่อลดการเสียชีวิตของเยาวชนก่อนวัยอันควร
นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การคิกออฟกิจกรรมนี้ จะทำให้เด็กที่เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 300 คน และอีก 3,000 คน จาก 15 จังหวัด ที่ร่วมกิจกรรมตลอดเดือน ต.ค. มีโอกาสฝึกปฏิบัติทักษะเบื้องต้น ทั้งการเอาชีวิตรอดทางน้ำ การช่วยเหลือคนตกน้ำ และการทำ CPR ช่วยคนจมน้ำ และจะขยายผลไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ รวมถึงเร่งส่งเสริมผลักดันให้เกิดการสร้างทีมผู้ก่อการดี (MERIT MAKER) ให้ครอบคลุมทุกตำบล เพื่อปกป้องเด็กไทยทั่วประเทศ