xs
xsm
sm
md
lg

ทบทวนผลตรวจ "นมผงเด็ก" ยี่ห้อดัง กรมวิทย์รับมีข้อผิดพลาด ยัน "เนื้อนม" ได้มาตรฐาน ไม่ใช่อาหารปลอม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อย. แจ้งผลตรวจนมผงเด็กยี่ห้อดัง ไม่ใช่อาหารปลอม หลังกรมวิทย์ทบทวนผลตรวจสอบ พบ "เนื้อนมไม่รวมไขมัน" เป็นไปตามมาตรฐาน กรมวิทย์เผยข้อผิดพลาดจากการถ่ายโอนข้อมูลของผู้วิเคราะห์ แจ้งยกเลิกรายงานผลแล้ว พร้อมออกรายงานแก้ไขผลใหม่ให้ อย. 24 ต.ค.

เมื่อวันที่ 25 ต.ค. นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า จากข่าวประกาศผลการตรวจพิสูจน์อาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจพบเนื้อนมไม่รวมไขมัน ไม่เป็นไปตามที่มาตรฐานกำหนด ในผลิตภัณฑ์เอนฟาโกร เอพลัส มายด์โปร ดีเอชเอ พลัส เอ็มเอฟจีเอ็ม โปร 4 วิท ทู-เอฟแอล เครื่องหมายการค้า ผลิตภัณฑ์นมชนิดละลายทันที วันผลิต 05/04/2022 ควรบริโภคก่อน 05/10/2023 โดยผลการตรวจจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบเนื้อนมไม่รวมไขมัน ไม่เข้ามาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 352) พ.ศ. 2556 ซึ่งมีการเผยแพร่ข่าวเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2566 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้มีการทวนสอบการรายงานผลการทดสอบตัวอย่างฉบับที่ R66031600791 ลงวันที่ 16 ม.ค. 2566 พบว่ามีการรายงาน “เนื้อนมไม่รวมไขมัน” คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง โดยข้อเท็จจริงผลเป็นไปตามมาตรฐาน

ดังนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้ยกเลิกรายงานผลการทดสอบตัวอย่างฉบับดังกล่าว และออกรายงานฉบับแก้ไขลงวันที่ 24 ตุลาคม 2566 ให้กับ อย. ซึ่งรายงานผลการตรวจวิเคราะห์ ปรากฏดังนี้ ผลิตภัณฑ์เอนฟาโกร เอพลัส มายด์โปร ดีเอชเอ พลัส เอ็มเอฟจีเอ็ม โปร 4 วิท ทู-เอฟแอล เครื่องหมายการค้า ผลิตภัณฑ์นมชนิดละลายทันที เลขสารบบอาหาร 20-1-03444-5-0019 วันผลิต 05 04 2022 ควรบริโภคก่อน 05 10 2023 ผู้ผลิต บริษัท มี้ด จอห์นสัน นิวทริชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ผลการตรวจวิเคราะห์เนื้อนมไม่รวมไขมันร้อยละ 63.70 ของน้ำหนัก ซึ่งเมื่อรวมกับไขมันร้อยละ 12.30 ของน้ำหนัก รวมแล้วเนื้อนมทั้งหมดได้ ร้อยละ 76.00 ซึ่งพบว่าเป็นไป ตามมาตรฐานที่กำหนด คือ มีเนื้อนมทั้งหมดไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของน้ำหนัก สำหรับผลิตภัณฑ์ของนมชนิดแห้ง ดังนั้น อย. จึงยกเลิกประกาศผลการตรวจวิเคราะห์ฉบับเดิมดังกล่าวแล้ว และบริษัทฯ สามารถดำเนินการผลิตเพื่อจำหน่ายได้ตามปกติ แต่อย่างไรก็ตาม อย. ยังคงเฝ้าระวังและเก็บตัวอย่างอาหารส่งตรวจวิเคราะห์อย่างต่อเนื่องเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็ได้ออกคำชี้แจงกรณีดังกล่าวด้วยเช่นกัน ว่าได้มีการทบทวนสอบกลับการรายงานผลการทดสอบตัวอย่างดังกล่าว ได้ส่งรายงานผลการทดสอบให้กับ อย. ผ่านทางระบบ e-Report ลงวันที่ 16 มี.ค. 2566 มีการรายงาน “เนื้อนมไม่รวมไขมัน” คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เนื่องจากข้อผิดพลาดในการถ่ายโอนข้อมูลของผู้วิเคราะห์ที่เป็นกรณีเฉพาะตัวอย่างนี้เพียงตัวอย่างเดียวเท่านั้น จึงเร่งดำเนินการแจ้งขอยกเลิกรายงานผลการทดสอบตัวอย่างดังกล่าว และออกรายงานฉบับแก้ไขให้กับ อย. ลงวันที่ 24 ต.ค. 2566 ว่า ผลการตรวจวิเคราะห์พบเนื้อนมไม่รวมไขมันร้อยละ 63.70 ของน้ำหนัก ซึ่งเมื่อรวมกับไขมันร้อยละ 12.30 ของน้ำหนัก พบว่า มีค่ามากกว่ามาตรฐานกำหนด มีเนื้อนมทั้งหมดไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของน้ำหนัก สำหรับผลิตภัณฑ์ของนมชนิดแห้ง ในการนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงขอแจ้งประกาศแก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น ด้วยตระหนักถึงผลกระทบที่มีต่อผู้ผลิตและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้รายงานผลการทดสอบดังกล่าว ขอยืนยันว่ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยึดมั่นในหลักการดำเนินงานด้วยความถูกต้อง เป็นกลางและเป็นธรรมตลอดมา


กำลังโหลดความคิดเห็น