xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ตั้ง "อุ๊งอิ๊ง" ปธ.บริหารขับเคลื่อน 5 ควิกวินยกระดับ 30 บาท เผย ธ.ค.เปิด รพ.เขตดอนเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายกฯ นั่งหัวโต๊ะถกบอร์ดสุขภาพชาตินัดแรก เห็นชอบตั้ง "อุ๊งอิ๊ง" เป็นประธานคณะกรรมการบริหารขับเคลื่อน 5 นโยบายยกระดับ 30 บาท กางแผน 2 ระยะ บัตรใบเดียวรักษาทุกที่ นำร่อง 4 จังหวัดทุกสังกัด เริ่ม ม.ค. 67 พร้อมปรับระบบเบิกจ่าย รพ.ได้รับเงินใน 72 ชม. ส่วน รพ.เขตดอนเมืองเปิดบริการ ธ.ค.นี้ ให้ รพ.สีกัน เป็น รพ.ทุติยภูมิ 120 เตียง ศบส.62 เป็น รพ.ผู้ป่วยนอกเฉพาะทาง และ รพ.ราชวิถี 2 รับส่งต่อ

เมื่อวันที่ 24 ต.ค. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 โดยมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการฯ  นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. รวมถึงกรรมการจากภาคส่วนต่างๆ ทั้ง รมว.กลาโหม รมว.อุดมศึกษาฯ รมว.ดิจิทัลฯ รมว.มหาดไทย รมว.แรงงาน สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้ว่าราชการ กทม. สภาวิชาชีพด้านสุขภาพ สมาคม รพ.เอกชน สำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เข้าร่วมประชุม


นายเศรษฐากล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมครั้งแรก เพื่อขับเคลื่อนนโยบายด้านสุขภาพ โดยมีการหารือ 5 ประเด็นเร่งด่วนตามนโยบายยกระดับ 30 บาท ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งในและนอกระบบสาธารณสุข ได้แก่ บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่, มะเร็งครบวงจรและการให้วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกหรือ HPV, สถานชีวาภิบาล, การเพิ่มการเข้าถึงบริการในเขต กทม. และสุขภาพจิต/ยาเสพติด ซึ่งเป็นประเด็นที่สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้ให้คำมั่นไว้กับประชาชน จึงเห็นชอบให้มีการแต่งตั้ง "คณะกรรมการบริหารการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ" ทำหน้าที่ติดตามและกำกับการดำเนินงานให้เป็นไปอย่างบูรณาการและมีประสิทธิภาพ ทั้ง 5 ประเด็น โดยให้ น.ส.แพทองธาร เป็นประธาน และมีกรรมการจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางสุขภาพในระยะยาวของประเทศ ให้คนไทยแข็งแรง ประเทศชาติมั่นคง นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมการแพทย์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป รัฐบาลจะเดินหน้าขับเคลื่อนงานสาธารณสุขไทย ยกระดับบริการสุขภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล สร้างระบบสาธารณสุขที่เหมาะสมทุกคนกับบนแผ่นดินไทย มีสุขภาพกายและใจแข็งแรง เข้าถึงระบบบริการสุขภาพอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบตามที่ปลัด สธ.เสนอให้พิจารณาแต่งตั้งผู้แทนในคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ เพิ่มเติม 2 ตำแหน่ง คือ นายกสภาการสาธารณสุขชุมชน และนายกสภาการแพทย์แผนไทย อีกทั้ง ให้ทาง น.ส.แพทองธาร พิจารณาเพิ่มผู้แทนจากภาคประชาชนในกรรมการฯ ตามความเหมาะสมต่อไป


น.ส.แพทองธารกล่าวถึงหลักการและเหตุผลในการยกระดับหลักประกันสุขภาพฯ ว่า หลักประกันสุขภาพฯ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทยมาตั้งแต่ปี 2544 ครอบคลุมประชาชนมากกว่า 99.6% ช่วยให้เข้าถึงบริการมากขึ้น ลดภาระค่าใช้จ่ายทางสุขภาพ และลดจำนวนครัวเรือนที่ยากจนจากรายจ่ายด้านสุขภาพ แต่ยังต้องพัฒนาต่อเนื่องให้สอดคล้องกับสภาพสังคมและวิถีชีวิตปัจจุบัน โดยจุดที่เป็นปัญหาคือบุคลากรยังขาดแคลน ระบบส่งต่อที่ไม่มีการเชื่อมต่อข้อมูล ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำรับบริการ ความแออัด และระยะเวลารอคอยการรักษา โดยเฉพาะ รพ.ในเขตเมือง ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริการ ตั้งแต่ส่งเสริมป้องกัน ตรวจวินิจฉัย ดูแลรักษา นัดหมาย ส่งต่อ และเชื่อมโยงจัดการฐานข้อมูล เพื่อมุ่งสู่ยกระดับ 30 บาทรักษาได้ทุกที่ เน้นกระจายการรักษา พัฒนาระบบฐานข้อมูลผู้ป่วยเป็นดิจิทัลทั้งหมด เพื่อสะดวก รวดเร็วในการสืบค้นข้อมูลคนไข้และรักษาพยาบาล ผ่านการยื่นบัตรบัตรประชาชนใบเดียวเข้ารับบริการสุขภาพได้ทุกหน่วยบริการ

"จะเน้นพัฒนาคุณภาพการให้บริการที่สะดวก รวดเร็ว มีทางเลือกที่เหมาะสม ลดขั้นตอนบริการ ตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการ ยึดหลักผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง เช่น นัดหมายออนไลน์ ใบรับรองแพทย์อิเล็กทรอนิกส์ ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน พื้นที่ห่างไกลให้เข้าถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางได้ทันท่วงที ไร้ข้อจำกัด ผ่านระบบ Telemedicine การส่งยาและเวชภัณฑ์ไปยังบ้านผู้ป่วย ซึ่งทั้งหมดนี้ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันจึงจะยกระดับหลักประกันสุขภาพฯ ของไทยให้ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน" น.ส.แพทองธารกล่าว


นพ.ชลน่านกล่าวว่า จากการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ระบบสาธารณสุขต้องปรับตัวอย่างก้าวกระโดด ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มการเข้าถึงบริการอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง และยกระดับคุณภาพบริการประชาชน สธ.จึงจัดทำ 13 นโยบาย เพื่อยกระดับ 30 บาทเพิ่มคุณภาพชีวิตประชาชน มีความจำเป็นต้องผลักดันให้แล้วเสร็จใน 100 วันหรือ Quick Win โดยวันนี้เสนอการขับเคลื่อน 5 ประเด็นหลัก คือ บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ มะเร็งครบวงจร โดยเฉพาะการฉีดวัคซีน HPV 1 ล้านโดส สถานชีวาภิบาล เข้าถึงบริการเขตเมือง รพ. 50 เขต 50 รพ. และสุขภาพจิต/ยาเสพติด ซึ่ง 5 เรื่องและทั้งหมดต้องอาศัยความร่วมมือหลายภาคส่วน เพราะมิติสุขภาพต้องมีกระทรวงอื่นๆ เข้ามาช่วย เพื่อให้ทันตามควิกวิน 100 วัน ซึ่ง สธ.พร้อมจะร่วมมือกับทุกภาคส่วน ในการสร้างสุขภาพที่ดีของประชาชน ลดภาระบุคลากร นำไปสู่การสร้างความมั่นคงระยะยาวต่อไป” นพ.ชลน่าน กล่าว

สำหรับการนำเสนอรายละเอียดของทั้ง 5 นโยบาย นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี รักษาราชการแทนรองปลัด สธ. กล่าวว่า การพัฒนาบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่จะเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพหน่วยบริการทุกระดับ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน อย่างไรก็ตาม การพัฒนาระบบแบ่งเป็น 4 ส่วน คือ ระบบบันทึกข้อมูล ทั้งรพ.รัฐ ร้านยา เอกชน , ระบบยืนยันตัวตน , ระบบ MOPH Data Hub เช่น ประวัติสุขภาพ สมุดสุขภาพประชาชน ใบรับรองแพทย์ ที่เป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ และระบบเชื่อมต่อประชาชน เช่น ไลน์ OA และแอปพลิเคชัน โดยยึดความปลอดภัยด้านไซเบอร์และข้อมูลส่วนบุคคลสูงสุด โดยจะนำร่อง 4 จังหวัด คือ แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส โดยมี รพ.สังกัด สธ. อว. กลาโหม รพ.เอกชน คลินิก และร้านยาที่สนใจเข้าร่วมโครงการ โดยระยะที่ 1 คือ ม.ค. 2567 จะมีประวัติสุขภาพแสดงบนมือถือ ดึงประวัติตนเองเก็บในสมุดสุขภาพ (Health Wallet) ในมือถือตัวเอง หญิงตั้งครรภ์จะมีสมุดฝากครรภ์สีชมพูบนมือถือ หากต้องการใบรับรองแพทย์ก็จะมีแบบดิจิทัล เมื่อประสงค์ไปรับยาร้านยาหรือเจาะเลือด จะมีใบสั่งยาหรือแล็บอิเล็กทรอนิกส์ เชื่อมโยงร้านยาและแล็บอัตโนมัติ มีระบบการแพทย์ทางไกลเชื่อมต่อประวัติสุขภาพผ่านมือถือประชาชน มีระบบนัดหมายออนไลน์แจ้งเตือนการมารับบริการ ส่งยาทางไปรษณีย์หรืออื่นๆ จ่ายเงินผ่านระบบกลางต่อยอดสู่ Big Data และ AI หน่วยบริการรับเงินใน 72 ชั่วโมงหลังจากส่งเบิก เป็นต้น

ส่วนระยะที่ 2 เม.ย. 2567 จะเพิ่มระบบจ่ายเงินทางออนไลน์ ไม่ต้องรอจ่ายเคาน์เตอร์ สามารถจ่ายผ่านมือถือหรือตู้เคออส การส่งตัวไม่ต้องใช้ใบส่งตัวอีกต่อไป ข้อมูลประวัติส่วนตัวและการรักษา มีระบบความปลอดภัยขั้นสูง ต้องมี OTP ของผู้ป่วยก่อนแพทย์ส่งข้อมูลไปได้ เพื่อป้องกันความปลอดภัย ระบบเชื่อมโยงการเจาะเลือดใกล้บ้าน ดูแลผู้ป่วยที่บ้านระยะสุดท้าย ขอที่ประชุมเห็นชอบเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ประชาชน


นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า เมื่อเชื่อมข้อมูลทุกระบบ ประชาชนจะสะดวกรวดเร็วในการเข้ารับบริการ โดย สปสช.สนับสนุนงบประมาณ จ่ายค่าชดเชยบริการเร็วขึ้น โดยใช้ AI เป็นระบบตรวจสอบต่อไป การอำนวยความสะดวกประชาชน จะเพิ่มคู่สาย สายด่วน 1330 ให้บริการประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง ในการสอบถามข้อมูล แจ้งปัญหา หากไปรับบริการไม่ได้ตามที่ตกลง นัดคิว นัดแพทย์ออนไลน์ไม่ได้หรือไม่สะดวก ไม่ทราบร้านยาหรือแล็บทีไปรับบริการ จะเข้าไปเสริมให้ระบบลื่นไหล โดยเพิ่มอาสาสมัคร เช่น พยาบาลเกษียณ คนพิการ มาช่วยตอบคำถาม เปิดทุกช่องทางให้ประชาชนติดต่อ สปสช.ได้ ส่วนอำนวยความสะดวกผู้ให้บริการ จะเปิดคู่สายให้หน่วยบริการหากไม่เข้าใจหรือต้องการตรวจสอบข้อมูลประชาชนในการใช้บัตรประชาชนใบเดียวไปรับบริการ เพื่อให้มั่นใจว่า สปสช.จ่ายเงินแน่นอน โดยมีการปรับกลไกชดเชยค่าบริการ จัดสรรงบประมาณให้หน่วยบริการล่วงหน้า เร่งการจ่ายค่าบริการผู้ป่วยนอกพื้นที่ใน 3 วัน และกรณีเป็นผู้ป่วยในไม่เกิน 14 วัน

ด้าน นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รักษาราชการแทนรองปลัด สธ. กล่าวว่า เราพบผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่มากกว่า 1.4 แสนคน/ปี ตาย 8.4 หมื่นคน/ปี โดยปี 2565 หลักประกันฯ มีค่าใช้จ่ายรักษามะเร็งมากกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท/ปี มะเร็งครบวงจรจะดูแลมะเร็งสำคัญ 5 ชนิด คือ มะเร็งตับ มะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง มะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก ที่ผ่านมาอาจรู้เกี่ยวกับมะเร็งไม่มาก การรักษาจึงเป็นแนวทางหลัก แต่มะเร็งหลายชนิดเราเข้าใจวงจรการเกิด สามารถดูแลตั้งแต่ยังไม่ป่วย ป่วยแล้วรักษาเหมาะสม ลดการรักษาชีวิตลงได้ โดยกลุ่มคนปกติให้ความรู้ส่งเสริมป้องกันไม่ให้เสี่ยงมะเร็ง คนมีภาวะเสี่ยงต้องคัดกรอง เป็นมะเร็งแล้ววินิจฉัยด้วยเครื่องมือทันสมัย การรักษาครอบคลุมทุกมิติ ทุกพื้นที่ และดูทางใจเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต โดยการดำเนินการช่วง 100 วัน จะมีการตั้งทีมสู้มะเร็ง Cancer Warrior ต.ค.นี้ ทั้งระดับกระทรวง เขตสุขภาพและจังหวัด คิกออฟฉีดวัคซีนเอชพีวีป้องกันมะเร็งปากมดลูก 8 พ.ย. ทั่วประเทศ และคัดกรองพยาธิใบไม้ตับ พ.ย. 2566

นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล รักษาราชการแทนรองปลัด สธ. กล่าวว่า สถานชีวาภิบาลดูแลติดป่วยติดเตียง การดูแลประคับประคองจนถึงวาระสุดท้ายชีวิต อย่างคุณภาพมาตรฐาน ลดภาระการเดินทาง การรอคอย ความกังวลของครอบครัว ช่วยให้ลูกหลานไปทำงานได้ มาตรการหลักขับเคลื่อน คือ พัฒนาคนรองรับระบบชีวาภิบาล 5 พันคน สร้างระบบชีวาภิบาลในทุก รพ. เพื่อวางแผนให้ผู้ป่วยอยู่ที่บ้านและชุมชนได้ ดูแลระบบทางไกล จัดตั้งสถานชีวาภิบาลในชุมชน เช่น วัดคำประมง จ.สกลนคร ดูแลผู้ป่วยประคับประคองมะเร็งระยะสุดท้าย และการพูดคุยเพื่อให้เกิดขยายสิทธิครอบคลุมทุกกองทุนสุขภาพ เป้าหมาย 100 วัน คือ มีสถานชีวาภิบาลทุกเขตสุขภาพ 12 แห่ง และใน กทม. 7 เขต 7 แห่ง และพัฒนาการดูแลที่บ้าน โดยใน 100 วัน จะเปิดสถานชีวาภิบาลต้นแบบ ใน ธ.ค.นี้

นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รักษาราชการแทนรองปลัด สธ. กล่าวว่า ประชากรระบบสุขภาพ กทม. มีประมาณ 7.7 ล้านคน รพ.ให้บริการ 112 แห่ง เป็น รพ.รัฐ 24 แห่ง เอกชน 88 แห่ง เตียงคนไข้ทุกสังกัดมี 30,180 เตียง คิดเป็น 3.92 เตียงต่อพันประชากร แบ่งดูแลเป็น 7 โซน อย่างกรุงเทพเหนือค่าเฉลี่ยเตียงผู้ป่วย 2.19 เตียงต่อพันประชากรถือว่าน้อยที่สุด โดยเฉพาะเขตดอนเมืองมี 0.77 เตียงต่อพันประชากร ถือว่าน้อยที่สุดในโซน โดยเขตดอนเมืองมี รพ. 1 แห่ง คือ รพ.ทหารอากาศ (สีกัน) ขนาด 130 เตียง แต่ปัจจุบันให้บริการเพียง 50 เตียง มีรพ.แม่ข่ายของโซนกรุงเทพเหนือ คือ รพ.กลาง สังกัด กทม. อยู่ห่างถึง 27 กม. ส่วน รพ.ส่งต่อประจำโซนกรุงเทพเหนือ คือ รพ.ภูมิพล เขตสายไหม รพ.มงกุฎวัฒนะ เขตหลักสี่ นโยบาย กทม. 50 เขต 50 รพ. เพื่อให้บรรลุเป้าหมายกำหนดความสำเร็จควิกวิน จึงพัฒนาให้เกิด รพ.ประจำเขตดอนเมือง โดยยกระดับ รพ.ทหารอากาศ (สีกัน) กรมแพทย์ทหารอากาศ เป็น รพ.ทุติยภูมิ 120 เตียง ยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข 60 เป็น รพ.ผู้ป่วยนอกเฉพาะทาง เตรียมพร้อม รพ.ราชวิถี 2 เป็น รพ.รับส่งต่ออีกแห่ง คาดว่า ธ.ค. 2566 จะเปิดบริการได้

นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดที่เสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง พบว่า ผู้ป่วยจิตเวชมีความเสี่ยงก่อความรุนแรง 25% ก่อความรุนแรง 10% ยาเสพติด 1.3 แสนคน เสี่ยงเกิดความรุนแรง 50% ก่อความรุนแรง 25% มีผู้บาดเจ็บถูกทำร้าย ทำร้ายตนเองเพิ่มขึ้น การฆ่าตัวตายและพฤติกรรมรุนแรงในสังคมเพิ่มขึ้น ขณะที่บริการจิตเวช อัตราการเข้าถึงบริการโรคจิตเวชและยาเสพติดยังต่ำ นำส่งบุคคลคลุ้มคลั่งทางจิตประสาทมีไม่มาก จิตแพทย์ และสหวิชาชีพด้านจิตเวชขาดแคลน ขาดยาฉีดคุณภาพเพราะค่าใช้จ่ายสูง มีข้อมูลพบว่า 75% ผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดมีอาการก่อนอายุ 18 ปี กิจกรรมหลัก คือ ส่งเสริมสุขภาพจิตเชิงรุกในชุมชน เตรียมพร้อมกลุ่มปฐมวัยเป็นวัคซีนใจ สร้างภูมิคุ้มกันเรื่องสุขภาพจิต ยาเสพติด ที่มีความเสี่ยงในวัยถัดไป อาศัยความร่วมมือหลายภาคส่วน ค้นหากลุ่มเสี่ยงในชุมชน รีบป้องกันและรักษา มีบริการฉุกเฉินจิตเวช พัฒนาทีมฉุกเฉินจิตเวช เพิ่มหอผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด บริการจิตเวชทางไกล และฟื้นฟูผู้ป่วยระยะยาวในชุมชน/สังคม เป้าหมาย 100 วัน จัดตั้งมินิธัญญารักษ์ทุกจังหวัด มีกลุ่มงานจิตเวชทุกอำเภอ หอผู้ป่วยจิตเวชทุกจังหวัด เปิด Mental Health Anywhere


กำลังโหลดความคิดเห็น