xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.เผยฟื้นฟูผู้ป่วยระยะกลางเพิ่มสูงถึง 2.47 แสนครั้ง รุกบริการในชุมชนเพิ่มเข้าถึง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สปสช. เผยบริการฟื้นฟูผู้ป่วยระยะกลาง 4 กลุ่มโรคเพิ่มขึ้นสูง จากปี 64 รวม 1.2 หมื่นคน ปี 66 เป็น 3.79 หมื่นคน มากกว่า 2.47 แสนครั้ง รุกบริการนอกหน่วยบริการและในชุมชน เพิ่มโอกาสเข้าถึง

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า บริการดูแลผู้ป่วยระยะกลาง (Intermediate care : IMC) มีความจำเป็นในผู้ป่วยที่พ้นภาวะวิกฤตแล้วและมีอาการคงที่ แต่ยังมีความผิดปกติของร่างกายบางส่วน หรือมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวัน จำเป็นต้องฟื้นฟูสมรรถภาพ โดยทีมสหสาขาวิชาชีพอย่างต่อเนื่องจนครบในระยะ 6 เดือน หลังพ้นระยะวิกฤต กำหนดสิทธิประโยชน์ดูแลผู้ป่วย 4 กลุ่มโรค คือ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) ผู้ป่วยบาดเจ็บที่ศีรษะและสมอง (acute brain injury) ผู้ป่วยบาดเจ็บทางไขสันหลัง (spinal cord injury) และกระดูกสะโพกหักจากภยันตรายชนิดไม่รุนแรง มีทั้งบริการกายภาพบำบัดไม่เกิน 20 ครั้ง กิจกรรมบำบัดและการแก้ไขการพูด รวมกันไม่เกิน 10 ครั้ง รวมจำนวน 30 ครั้ง/ราย แต่ละครั้ง ต้องไม่น้อยกว่า 45 นาที จากนักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด และนักแก้ไขการพูด ผู้ป่วยรับบริการทั้งในรูปแบบผู้ป่วยนอก หรือส่งต่อรับที่คลินิกกายภาพบำบัด หรือผู้ป่วยในชุมชนได้


สำหรับการเข้าถึงบริการได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปี 2564 มีการรับบริการจำนวน 12,573 คน 59,163 ครั้ง ปี 2566 เพิ่มขึ้นอย่างมาก เป็นจำนวน 37,987 คน รวม 247,996 ครั้ง จำนวนนี้เป็นกายภาพบำบัด 37,211 คน 158,523 ครั้ง, การแก้ไขการพูด 237 คน 315 ครั้ง และกิจกรรมบำบัด 7,808 คน 23,940 ครั้ง มีผู้ป่วยที่รับบริการที่นอกหน่วยบริการหรือในชุมชน จำนวน 20,836 คน เป็นจำนวน 65,019 ครั้ง

“ตรงนี้สะท้อนให้เห็นถึงการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยที่ได้รับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพแบบเข้มข้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพจนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยส่วนหนึ่งสามารถกลับมาดำเนินกิจวัตรประจำวันและดูแลตนเองได้ในระดับหนึ่ง เป็นสิทธิประโยชน์กองทุนบัตรทองฯ เพื่อดูแลคนไทย” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น