xs
xsm
sm
md
lg

มรภ.ภูเก็ต เสริมพลังซอฟต์พาวเวอร์ สร้างความเปลี่ยนแปลงสู่มหาวิทยาลัยพัฒนาท้องถิ่นภาคใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มรภ.ภูเก็ต เสริมพลังซอฟต์พาวเวอร์ สร้างความเปลี่ยนแปลงสู่มหาวิทยาลัยพัฒนาท้องถิ่นภาคใต้ ด้านการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์

เมื่อวันที่ 23 ต.ค. ศ.ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล ประธานคณะอนุกรรมการด้านการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย พร้อมด้วยนายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี หัวหน้ากลุ่มภารกิจบริหารยุทธศาสตร์ และคณะอนุกรรมการ สำนักงานปลัดกระทรวง อว. ลงพื้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต (มรภ.ภูเก็ต) ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เสริมพลังความเข้มแข็งตามบริบทพื้นที่ โดยมีผู้บริหาร คณาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัยให้การต้อนรับ

ผศ.ดร.หิรัญ ประสานการ อธิการบดี มรภ.ภูเก็ต กล่าวว่า โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้มหาวิทยาลัยต่างๆ เกิดความตื่นตัวที่จะขับเคลื่อนการทำงานในบริบทที่ตนเองถนัด ส่วนหนึ่งคือการสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่ง มรภ.ภูเก็ต เป็น 1 ใน 5 มหาวิทยาลัยกลุ่มราชภัฏภาคใต้ ที่มีศูนย์อัจฉริยะเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นภาคใต้ ด้านการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งที่ทั้ง 5 มหาวิทยาลัย ได้ใช้องค์ความรู้และนวัตกรรม ผนวกกับจุดแข็งเชิงพื้นที่ ในการขับเคลื่อนการทำงานในรูปแบบต่างๆ ร่วมกัน

ศ.ดร.พีระพงศ์ กล่าวว่า โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จะเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ซึ่งจะตอบโจทย์การทำงานของ มรภ.ภูเก็ต ที่มีศูนย์อัจฉริยะฯ ด้านการท่องเที่ยวได้อย่างชัดเจน ทำให้เห็นถึงการต่อยอดความรู้และนวัตกรรมต่างๆ ที่จะนำไปสร้างการเป็นผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว รวมถึงเกิดสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับประชาชนในพื้นที่ ขอชื่นชมการทำงานของ มรภ.ภูเก็ตและ มรภ.ภาคใต้ ทั้ง 4 แห่ง ที่ได้มีการพัฒนาหลักสูตรแซนบอกซ์ร่วมกัน ซึ่งจะทำให้เกิดความเชื่อมโยงตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ถือเป็นความท้าทายในการทำให้เกิดผลลัพธ์ ที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงตามเป้าหมายของการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย

ด้านนายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า มหาวิทยาลัยมีความตั้งใจที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งในพื้นที่ภาคใต้ถือว่ามีความโดดเด่นของผ้าบาติกหรือผ้าปาเต๊ะ ที่เป็นอัตลักษณ์พื้นเมืองประจำถิ่น หากยกระดับภูมิปัญญาการทำผ้าบาติกให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นไปในแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ใน สาขาออกแบบ ศิลปะ และแฟชั่นด้วย

นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการฯ ยังได้เยี่ยมชมผลงานการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์อื่นๆ อาทิ นวัตกรรมสปาและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รวมถึงการออกแบบและพัฒนานาฏยศิลป์ประยุกต์จากการร่อนแร่สู่กิจกรรมนันทนาการเพื่อสุขภาพ เป็นต้น


















กำลังโหลดความคิดเห็น