xs
xsm
sm
md
lg

อว. ผนึก 6 หน่วยงานรัฐ เปิดเวทีถก “กรณีนักลงทุนชาวต่างชาติเข้ามาถือหุ้นในสถาบันอุดมศึกษาเอกชน” เตรียมสร้างกลไกกำกับดูแล สร้างหลักประกัน คุมเข้มคุณภาพการศึกษา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวง อว. ผนึก 6 หน่วยงานรัฐ เปิดเวทีถก “กรณีนักลงทุนชาวต่างชาติเข้ามาถือหุ้นในสถาบันอุดมศึกษาเอกชน” เตรียมสร้างกลไกกำกับดูแล สร้างหลักประกัน คุมเข้มคุณภาพการศึกษา เผยมีต่างชาติถือหุ้นใน 3 สถาบันเอกชน ที่สำคัญมีบางแห่งใช้วิธีรับโอนใบอนุญาติจัดตั้งขยายไปยังสถาบันอุดมฯ ด้วย

เมื่อวันที่ 21 ต.ค. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดประชุมระดมความคิดเห็น “กรณีนักลงทุนชาวต่างชาติเข้ามาถือหุ้นในนิติบุคคลผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชน” เพื่อกำหนดแนวทางความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา โดยมี ศ.ดร. ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลุดกระทรวง อว.เป็นประธาน พร้อมด้วยนายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นผู้นำเสนอข้อมูลในหัวข้อเรื่อง “สถานการณ์ความเป็นมากรณีนักลงทุนชาวต่างชาติเข้ามาถือหุ้นในสถาบันอุดมศึกษาเอกชน” ร่วมกับคณะอนุกรรมการดำเนินการตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2546 นำโดยรศ.ดร.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ ประธานอนุกรรมการฯ, ผู้แทนจากส่วนราชการ จำนวน 6 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ, สำนักข่าวกรองแห่งชาติ, สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง, กรมพัฒนาธุรกิจการค้า, กรมที่ดิน, และกรมสรรพากร ณ ห้องประชุมทองหล่อ ชั้น 4 โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท

รศ.ดร.ประดิษฐ์ กล่าวว่า สถาบันอุดมศึกษาเอกชนเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่รัฐบาลได้เปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาแบ่งเบาการจัดการศึกษาของรัฐ ในส่วนที่รัฐอาจไม่สามารถจัดบริการทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาได้อย่างทั่วถึง โดยรัฐเป็นผู้ทำหน้าที่คัดกรองเอกชนเฉพาะผู้ที่มีศักยภาพและมีความพร้อมมากที่สุดในทุกด้านให้เป็นผู้เข้ามาลงทุนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐได้กำหนดขึ้น จากสถานการณ์ปัจจุบันประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีอัตราการเกิดที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อจำนวนนักศึกษาลดลง จึงส่งผลกระทบต่อสถานะความมั่นคงและการดำรงอยู่ของสถาบันฯ เนื่องจากรายได้หลักของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน มาจากการจัดเรียนการสอน กรณีที่มีนักลงทุนชาวต่างชาติเข้ามาถือหุ้นในนิติบุคคลผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชนนั้น เป็นเรื่องที่ทางคณะอนุกรรมการการดำเนินการตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน เล็งเห็นว่าอาจมีผลกระทบต่อการบริหารจัดการสถาบันอุดมศึกษาเอกชน และอาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในมิติต่าง ๆ ได้ จึงควรได้รับการหารือจากทุกฝ่ายในวันนี้

ด้านนายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวว่า สถาบันอุดมศึกษาเอกชนจัดตั้งขึ้นโดยผู้รับใบอนุญาตจัดต้ังนำทุนมาจัดต้ังขึ้น ซึ่งในปัจจุบันมีประเภทผู้รับใบอนุญาตจัดต้ังทั้งที่เป็นบุคคล และประเภทนิติบุคคล โดยสำนักงานปลัดกระทรวง อว. มีหน้าที่และอำนาจในการพัฒนา ส่งเสริมกิจการสถาบันอุดมศึกษาเอกชน และกำกับการดำเนินการของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชนด้วย

“ในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีข้อมูลกรณีชาวต่างชาติที่เข้ามาถือหุ้นในนิติบุคคลของผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชน จำนวน 3 แห่ง และพบว่าหนึ่งในนิติบุคคลของผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งนั้น ได้ขยายการดำเนินการจัดการศึกษาไปยังสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งอื่น โดยวิธีการขอรับโอนใบอนุญาตจัดตั้ง รวมทั้งกรณีนักศึกษาต่างชาติเข้ามาศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากสถิติจำนวนนักศึกษาชาวไทยกับนักศึกษาสัญชาติอื่นๆ ในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนประจำปีการศึกษา 2566 ปรากฎว่ามีนักศึกษาสัญชาติจีน 19,592 คน ในขณะที่มีนักศึกษาสัญชาติอื่นๆ รวมเพียง 8,462 คน โดยนักศึกษาสัญชาติจีนดังกล่าวเป็นนักศึกษาระดับปริญญาโท 51% และระดับปริญญาเอก 23% ซึ่งกระทรวง อว. ได้มีการดำเนินการต่างๆ ในการติดตามกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (สสอท.) และสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างหลักประกันการจัดการศึกษาเพื่อให้เกิดคุณภาพต้อผู้เรียน และเกิดประโยชน์โดยรวมต่อประเทศ” นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าว

ศ.ดร.ศุภชัย กล่าวว่า หลังจากนี้ อว. จะนำข้อหารือ มากำหนดแนวทางดำเนินการทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อให้มั่นใจได้ว่า การเข้าลงทุนของชาวต่างชาติในสถาบันอุดมศึกษาเอกชน จะไม่กระทบต่อคุณภาพการจัดการศึกษาของประเทศไทย รวมถึงเรื่องอื่นๆ ที่เป็นข้อกังวลต่อไป










กำลังโหลดความคิดเห็น