xs
xsm
sm
md
lg

"ชลน่าน" เผยทางออกแก้ปัญหาถ่ายโอน รพ.สต. เพิ่มขั้นตอน "ช่วงเปลี่ยนผ่าน" ชง ก.ก.ถ.ออกเกณฑ์รองรับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ชลน่าน" ชี้ทางออกปัญหาถ่ายโอน รพ.สต. เพิ่มขั้นตอนช่วง "เปลี่ยนผ่าน" จ่อเสนอ ที่ประชุม ก.ก.ถ.ออกหลักเกณฑ์แนวทางรองรับ ทั้งปัญหาคน เงิน ของ วาง 3 แนวทางช่วยบุคลากรไม่ถ่ายโอน ทั้งจัดหาเกลี่ยตำแหน่ง ให้เออรีรีไทร์ และช่วยราชการ ย้ำต้องยึดประชาชนเป็นหลัก ไม่ใช่ตัวเรา สธ.หรือ อบจ. อาจทำถ่ายโอนไม่สำเร็จ กระทบบริการประชาชน

เมื่อวันที่ 20 ต.ค. ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน กทม. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวระหว่างเปิดประชุมเชิงปฏิบัติการ Quick Win ยุคเปลี่ยนผ่าน “ก้าวสู่ระบบสุขภาพปฐมภูมิที่มีคุณภาพ 30 บาท รักษาทุกโรคยุคใหม่” ว่า สิ่งสำคัญเราต้องหาแนวทางวิธีในการดำเนินการ “ช่วงเปลี่ยนผ่าน” การถ่ายโอน รพ.สต.ไป อบจ. ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ที่ผ่านมาพูดถึงประเด็นนี้กันมาก เนื่องจากมีข้อแทรกซ้อนพอสมควร ตนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยเราจะปฏิบัติตามกฎหมายการกระจายอำนาจ แต่ต้องให้เกิดประโยชน์กับประชาชน ต้องไม่เอาตัวเรา ตัวสาธารณสุข หรือ อบจ.เป็นตัวตั้ง ไม่เช่นนั้นการถ่ายโอนนอกจากจะไม่สำเร็จ ยังส่งผลกระทบต่อประชาชน โดย ประชาชนต้องได้รับบริการที่ไม่น้อยกว่าเดิมหรือดีกว่าเดิม หากไม่ดีกว่าเดิมจะถ่ายโอนไปทำไม เราต้องยึดประชาชนเป็นสำคัญนี่คือวิถีประชาธิปไตย

ดังนั้น 1.ขอให้มั่นใจในการกระจายอำนาจไปท้องถิ่น เพราะจะไปอยู่ใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชน และพวกเขาต้องได้รับประโยชน์จากการบริการสาธารณะ ซึ่งการบริการสาธารณสุขเป็นสาธารณะ เราต้องเอาตัวนี้เป็นตัวตั้ง 2.เรื่องกระจายอำนาจมีกฎหมายรองรับ เริ่มตั้งแต่ปี 2541 จนถึง 2549 จัดทำแผน 1 ออกมา จากนั้นมีแผน 2 ตั้งแต่ปี 2553 โดย 2 แผนดังกล่าวทำมาร่วม 10 ปีแล้ว แต่มีการถ่ายโอนไปแค่ 86 แห่ง จากนั้นเมื่อปี 2564 ก็มีการพูดถึงการกระจายอำนาจ มีคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) จากนั้นจึงมีการกระจายอำนาจ ถ่ายโอน รพ.สต.ไปอบจ.ในปี 2565 กว่า 3,600 แห่ง บุคลากร 2.5 หมื่นคน และปี 2567 มีรพ.สต.ถ่ายโอน 930 แห่งอยู่ในขั้นตอนดำเนินการ มีบุคลากรประสงค์ 8 พันกว่าคน เข้าเกณฑ์ประมาณ 7 พันคน ไม่ว่าอย่างไรหลักการถ่ายโอนต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ ดังนั้น สาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) เป็นผู้บังคับบัญชา ก็ต้องคำนึงเรื่องนี้


“ภาพใหญ่ตอนนี้ไม่ได้มีกำหนดระยะเวลาว่าต้องถ่ายโอนเสร็จสิ้นเมื่อไร แต่จะต้องมีการประเมินหลังการถ่ายโอนช่วง ปี 67 และปี 68 สิ่งสำคัญคือเราจะทำอย่างไรให้ประชาชนได้ประโยชน์ โดยปัจจุบันรพ.สต.ถ่ายโอนไปรวมราว 4,000 แห่ง บุคลากรอีก 60% ไม่ได้แสดงเจตจำนงว่าจะไป เราต้องจัดการให้ดี โดยเฉพาะช่วงเปลี่ยนผ่าน ส่วนปัญหาต่างๆ และข้อเสนออยากให้เสนอมาให้ผม และจะนำเรื่องนี้ไปหารือกับทาง ก.ก.ถ.ต่อไป” นพ.ชลน่าน กล่าว

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า สำหรับคนไม่ไปก็ต้องช่วยเหลือเรื่องตำแหน่ง ต้องไม่ให้เกิดการแบ่งฝ่าย เราต้องยอมรับว่าตอนนี้เป็นแบบนี้ เพราะยังมีกลุ่มที่อยากไป ซึ่งก็อยากไปเต็มที่ ส่วนอีกกลุ่มที่ยอมรับว่าไม่พร้อมก็ยังมีข้อแม้ตรงนี้อยู่ และมีกลุ่มที่ต่อต้านมาก ไม่ให้กระจายอำนาจ แต่เมื่อเป็นกฎหมายก็ต้องปฏิบัติ แต่อยากให้คุยให้สื่อสารกันดีๆ โดยเฉพาะระยะเปลี่ยนผ่านต้องมีการพูดคุยว่า จะมีการรองรับอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้มี นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รักษาราชการแทนรองปลัด สธ. ดูแล และจะทำเป็นข้อเสนอว่าระยะเปลี่ยนผ่านจะมีกลไกอะไรมารองรับ เพื่อเสนอต่อที่ประชุม ก.ก.ถ.

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า แนวทางช่วยเหลือกลุ่มบุคลากรที่ไม่ได้ถ่ายโอนมี 3 แนวทาง คือ 1.ต้องหาตำแหน่ง เกลี่ยตำแหน่งให้ แต่ตรงนี้จะทำได้น้อย ยังมีข้อจำกัด 2.คนที่ไม่อยากถ่ายโอน แต่มีส่วนหนึ่งต้องการ Early Retire ก่อน และ 3.กลุ่มแสดงเจตจำนงช่วยราชการ คือ ทำงานที่เดิมให้เวลา 1 ปี บวกเพิ่ม 6 เดือน และต่ออีก 6 เดือน รวมได้ 2 ปี จากนั้นค่อยมาประเมิน ตอนแรกคิดว่าวิธีการนี้น่าจะกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด และกระทบกับบุคลากรน้อยที่สุดเช่นกัน เนื่องจากสภาพแวดล้อมต่างๆไม่เปลี่ยน แต่ก็ต้องถามว่า บุคลากรเห็นด้วยหรือไม่ เพราะสิ่งสำคัญต้องสมัครใจ


"นอกจากกลไกช่วงเปลี่ยนผ่าน แนวทางช่วยบุคลากรแล้ว ยังต้องมีเรื่องการบริการที่ต้องไร้รอยต่อ การให้ข้อมูลสื่อสารสุขภาพแก่ประชาชนในพื้นที่เป็นสิ่งสำคัญ ยังมีข้อเสนอเกี่ยวกับการจัดทำ Health Station โดยใช้ระบบดิจิทัลมาช่วย มีการเก็บข้อมูลสุขภาพ ส่งขึ้นไปบนคลาวด์เชื่อมต่อกับรพ.ในการดูแลสุขภาพ เป็นวิธีการหนึ่งในการหาแนวทางมาดูแลประชาชน" นพ.ชลน่านกล่าว

ถามว่าจะนำข้อเสนอเหล่านี้ให้ที่ประชุม ก.ก.ถ.เห็นชอบด้วยใช่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ก.ก.ถ.เป็นผู้ออกหลักเกณฑ์ในการกระจายอำนาจฯ เพียงแต่สิ่งที่ขาดไปคือ ช่วงเปลี่ยนผ่านจะรองรับเรื่องเงิน คน ของอย่างไร เราจึงมองว่าจะนำสิ่งที่ในพื้นที่ได้ทำ ไปเสนอต่อที่ประชุมก.ก.ถ.ว่า ช่วงเปลี่ยนผ่านสามารถดำเนินการแบบนี้ได้ แต่ต้องมีความคิดเห็น มีมติของก.ก.ถ.ด้วย ข้อเสนอก็จะเป็นตามที่กล่าวข้างต้น เช่น การจัดบริการที่ต้องลดช่องว่างต่างๆ ทั้งคนที่มีความประสงค์ไม่ไป แต่รพ.สต.ไป เราจะทำอย่างไร ต้องหาแนวทางรองรับทั้งหมด

เมื่อถามว่าขณะนี้กลายเป็นในระดับพื้นที่สับสน เพราะระดับบริหารยังไม่ชัดเจน และเกิดปัญหาเถียงไปมา จนไม่ได้ก่อประโยชน์กับประชาชน นพ.ชลน่าน กล่าวว่า คนที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้ง สธ. ท้องถิ่น และประชาชน เราต้องสร้างความรู้ความเข้าใจ ต้องให้ชัดเจน โดยเฉพาะหลักการกระจายอำนาจ ต้องอยู่บนพื้นฐานว่า มีประโยชน์ต่อประชาชน และกลไกต้องเป็นไปตามตัวบทกฎหมาย แต่อยู่บนพื้นฐานของการหาแนวทางการมีส่วนร่วมให้มากที่สุด และมีเป้าหมายเดียวกันคือ กระจายอำนาจให้สำเร็จบนความพร้อม และสมัครใจ ดังนั้น ช่วงเปลี่ยนผ่าน ต้องพูดคุยกันให้ชัดเจน ไม่ใช่ฝ่ายนี้จะเอา ฝ่ายนี้บอกไม่ได้ เพราะกติกาไม่ได้ ระดับบริหารต้องคุยให้ชัดก่อน อย่าให้ฝ่ายปฏิบัติรับผลกระทบ


กำลังโหลดความคิดเห็น