xs
xsm
sm
md
lg

สถาบันทันตกรรมประกาศทำฟันฟรี 300 ราย ถวายสมเด็จย่า 20 ต.ค.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถาบันทันตกรรม เปิดทำฟันฟรี 300 ราย ถวายเป็นพระราชกุศลสมเด็จย่า เนื่องในวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ ทั้งตรวจ ขูด อุด ถอน ย้ำระวังฟันผุ ทำสูญเสียฟันถึงขั้นติดเชื้อ

เมื่อวันที่ 19 ต.ค. พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า วันที่ 21 ต.ค.ของทุกปี ตรงกับวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ สถาบันทันตกรรม ได้จัดกิจกรรมให้ความรู้ทางทันตกรรมแก่ประชาชน น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่น่าห่วงคือ โรคฟันผุ ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น แบคทีเรียในช่องปาก พฤติกรรมการทานอาหาร แปรงฟันไม่สะอาด หากปล่อยทิ้งไว้อาจลุกลามไปถึงโพรงประสาทฟัน เกิดการอักเสบเชื้ออาจลุกลามไปที่รากฟันและเกิดหนอง เสี่ยงติดเชื้อไปยังอวัยวะอื่นๆ ดังนั้น การดูแลสุขภาพช่องปาก จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ควรสังเกตฟันและสภาพช่องปากของตนเอง ลดอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เลือกอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย กินอาหารให้เป็นเวลา ไม่ควรกินจุกจิก และพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง

ทพญ.สุมนา โพธิ์ศรีทอง ผอ.สถาบันทันตกรรม กล่าวว่า อาการฟันผุเกิดจากกระบวนการทำลายแร่ธาตุของโครงสร้างฟัน มีสาเหตุจากแบคทีเรียที่สร้างกรดขึ้นมาเพื่อย่อยเศษอาหาร โดยเฉพาะประเภทน้ำตาลและแป้งที่ตกค้างภายในช่องปาก และในผู้ที่ชอบรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา และทำความสะอาดภายในช่องปากได้ไม่ดีพอ จะยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดอาการฟันผุ ควรใส่ใจดูแลสุขภาพช่องปาก ทำความสะอาดฟันให้ถูกวิธี โดยแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ใช้ไหมขัดฟันเพื่อช่วยทำความสะอาดซอกฟัน ซึ่งจะช่วยลดการเกิดโรคฟันผุได้ ทั้งนี้ ในวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ สถาบันทันตกรรม ได้ให้บริการตรวจฟัน อุดฟัน ถอนฟันและขูดหินปูน และให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพช่องปากแก่ประชาชน จำนวน 300 ราย ไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในวันที่ 20 ต.ค. 2566 ณ สถาบันทันตกรรม

ทพญ.ณัฐพจี นรเศรษฐ์ตระกูล ทันตแพทย์ชำนาญการ สาขาทันตกรรมหัตถการ สถาบันทันตกรรม กล่าวว่า โรคฟันผุสังเกตได้ด้วยตนเองและแบ่งเป็นระยะของโรคได้ โดยระยะแรกฟันจะมีสีขาวขุ่นหรือน้ำตาลและผิวฟันไม่เรียบ เมื่อมีการลุกลามมากขึ้นฟันจะเริ่มแตกหรือผุเป็นรู และเมื่อฟันที่ผุเกิดลุกลามจนสูญเสียเนื้อฟันมากขึ้น การรักษาจะมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น โดยการตรวจวินิจฉัยนอกจากมองด้วยตาและการใช้เครื่องมือแล้ว ทันตแพทย์จะใช้วิธีการถ่ายภาพรังสีเอกซเรย์ (X-RAY) ซึ่งจะช่วยให้พบฟันผุในตำแหน่งที่ไม่สามารถมองเห็น และยังบอกความลึกของการลุกลามของโรคฟันผุได้ด้วย ส่วนด้านรักษาทันตแพทย์จะเริ่มจากการกำจัดเนื้อฟันส่วนที่ผุออก แล้วทำการอุดฟันหรือบูรณะฟันในส่วนที่ถูกทำลาย ด้วยวัสดุอุดชนิดต่าง ๆ เช่น อะมัลกัม คอมโพสิต แต่หากผุลึกจนทะลุโพรงประสาทฟันต้องรักษารากฟัน และหากสูญเสียเนื้อฟันมาก อาจต้องทำการครอบฟันในขั้นต่อไป เพื่อให้ฟันสามารถกลับใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ


กำลังโหลดความคิดเห็น