อย.เตรียมแผนรองรับการนำเข้ายาและวัตถุดิบจาก "อิสราเอล" หลังมีเหตุสู้รบ พบมี 16 รายการ ลุย Quick Win ส่งเสริมผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน "ชลน่าน" ฝากใช้สุขภาพสร้างมั่งคั่งประเทศ วางกรอบแนวทางอุตฯ การแพทย์และสุขภาพพื้นที่อีอีซี
เมื่อวันที่ 18 ต.ค. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วยนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. ตรวจเยี่ยมสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดย นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ฝาก อย.ส่งเสริมศักยภาพสร้างความมั่งคั่งให้ประเทศโดยมิติสุขภาพ ทำให้ผู้ประกอบการหรือผู้ที่เกี่ยวข้องนำมิติสุขภาพไปสร้างความมั่งคั่ง ซึ่งการที่ อย.นำเทคโนโลยีมาใช้สนับสนุนการทำงาน ทำให้แก้ปัญหาต่างๆได้มาก รวมถึงการอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชนช่วง Quick Win 100 วัน 100 รายการ เท่าที่ทราบก็ดำเนินการไปแล้ว 30 รายการ จะเป็นโอกาสให้ประชาชนในการสร้างรายได้
สำหรับมิติอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งการมุ่งเป้าอุตสาหกรรมนี้มีกิจกรรมสำคัญ อย่างเรื่องการสร้างความมั่นคงทางยาและวัคซีน โดยวัคซีนมีการกำหนดแนวทางแล้ว แต่อยากให้ อย.กำหนดแนวทางเรื่องของยามุ่งเป้า ให้สอดรับกับที่ผู้ประกอบการสนใจวางฐานการผลิตในพื้นที่อีอีซี เพื่อสร้างความมั่นคงทางยา ยกตัวอย่าง ยาอินซูลินที่ไทยต้องนำเข้าจากต่างประเทศ หากเกิดสถานการณ์ใดขึ้นแล้วไม่สามารถนำเข้าได้ ผู้ป่วยที่ได้รับยาอินซูลินในไทยก็จะกระทบทั้งหมด เป็นต้น และการส่งเสริมสนับสนุนร้านยา ซึ่งสามารถเป็นห้องยาของ รพ.ได้ อาจจะเป็น Partnership ที่ รพ. มาดูแลห้องยาทั้งหมด เพื่อให้ผู้ประกอบการร้านยาอยู่ได้ ขณะที่ รพ.ก็ง่ายต่อการบริหารจัดการ ทำให้ประสิทธิภาพบริการดีขึ้น
ด้าน นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รักษาราชการแทนเลขาธิการ อย. กล่าวว่า สถานการณ์สู้รบระหว่างอิสราเอลและฮามาส ได้มีการเตรียมแผนรองรับกรณีการนำเข้ายาและวัตถุดิบทางยาที่ไทยมีการนำเข้าจากอิสราเอลจำนวน 16 รายการ เป็นยาสำเร็จรูป 12 ตัว และวัตถุดิบทางยา 4 ชนิด เช่น อิมมูโนโกลบูลินที่ผลิตจากซีรั่มของมนุษย์ (HRIG) ที่ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และ Magnesium Hydroxide เป็นต้น จากการสำรวจสต็อก จะสามารถผลิตได้อีก 2 ปี และมีแหล่งจัดหาอื่นเพิ่มเติม ส่วนเรื่องของกัญชา กัญชง อย.จะดำเนินการพัฒนาระบบกำกับดูแล เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์อย่างมีประสิทธิภาพ เร่งออกกฎหมายลำดับรองตามประมวลกฎหมายยาเสพติด และระบบเฝ้าระวังวัตถุเสพติดทางการแพทย์ ด้วยการบูรณาการเครือข่ายกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กรมสรรพากร ตรวจสอบ ติดตามการใช้ทางการแพทย์
ส่วนของการดำเนินรองรับนโยบาย Quick Win เรื่องเศรษฐกิจสุขภาพ ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและวัตถุอันตราย ด้วยการอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน 100 รายการ รวมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย โดยมีโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการ ยกระดับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทยสู่ตลาดความงามโลก เพราะมูลค่าการส่งออกในปี 2565 ของไทย มีการส่งออกเครื่องสำอางเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน มูลค่ารวม 65,000 ล้านบาท