6 องค์กรลงนามร่วมพัฒนาระบบบริการเภสัชกรรมพื้นที่ กทม. หนุนเชื่อมข้อมูล ส่งต่อผู้ป่วย ระยะแรกเน้นรับยาที่ร้านยา ช่วยลดความแออัด ติดตามอาการ ระยะถัดไปส่งต่อผู้ป่วยอาการมากไป รพ. พร้อมให้บริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค คัดกรองมะเร็งปากมดลูก วางระบบเป็นเครือข่ายครบวงจร
เมื่อวันที่ 17 ต.ค. ที่อาคารมหิตลาธิเบศร รศ.พิเศษ ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันธ์ นายกสภาเภสัชกรรม พร้อมด้วย ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. ดร.อดิศร เตือนตรานนท์ ผู้ช่วย ผอ.สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นพ.สุนทร สุนทรชาติ ผอ.สำนักอนามัย กทม. นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ ภก.ธีรวุฒิ พงศ์เศรษฐไพศาล ประธานมูลนิธิเภสัชกรรม ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่อง "การพัฒนาระบบบริการด้านเภสัชกรรมโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการบริการด้านสาธารณสุข" เพื่อพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยี และระบบบริการต่างๆ เพื่อสนับสนุนงานสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค ลดความแออัด เชื่อมต่อ และส่งต่อผู้ป่วย ให้เกิดระบบเครือข่ายดูแลประชาชนตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ (ร้านยา) ถึงระดับตติยภูมิในพื้นที่ กทม.
รศ.พิเศษ ภก.กิตติกล่าวว่า ทั้ง 6 องค์กรมาลงนามร่วมกันพัฒนาระบบดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการรวดเร็วปลอดภัย ดูแลตัวเองเบื้องต้น ระยะแรกจะเน้นส่งต่อใบสั่งยาจาก รพ.มาร้านยาในช่วงแรก เพื่อลดความแออัด ให้เกิดความสะดวกขึ้น ไม่ต้องเดินทางมากขึ้น และจะใช้ร่วมกับระบบเทเลเมดิซีนเพื่อให้การบริการสะดวกขึ้น อนาคตจะพัฒนาให้สามารถดูแลว่า หากผู้ป่วยมีอาการเจ็บป่วยหรือรุนแรง จะส่งต่อตามระบบที่ กทม.วางไว้ เช่น ไปศูนย์บริการสาธารณสุข หรือ รพ. เรื่องการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค อย่างวัคซีนต่างๆ ซึ่งในต่างประเทศให้บทบาทร้านยาให้บริการ เราเตรียมความพร้อมถ้าระบบพัฒนาให้ถึงร้านยาช่วยเหลือ ก็จะมีความพร้อมดำเนินการต่อไป
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า สปสช.ร่วมกับสภาเภสัชกรรม ทำร้านยาคุณภาพดูแลผู้ป่วยบัตรทองเจ็บป่วยทั่วไป 16 กลุ่มอาการ ซึ่งตอนนี้มีอยู่ประมาณ 1.6-1.7 พันกว่าแห่ง ตั้งเป้าให้ได้ประมาณ 2 พันแห่งในปีนี้ เราอยากจะกระจายทุกอำเภอ ไม่เฉพาะอำเภอเมือง ซึ่งตอนนี้ กทม.มีเข้าร่วมมากสุด เพื่อเพิ่มพื้นที่การเข้าถึงของประชาชน โดยความร่วมมือครั้งนี้อยากทำให้ครบวงจร ไม่ได้เน้นการรักษาอย่างเดียว แต่รวมถึงส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค โดยเฉพาะการคัดกรองต่างๆ โดยอยากจะเชื่อมเป็นเครือข่าย เช่น คัดกรองมะเร็งปากมดลูก ซึ่งเรามีชุดตรวจคัดกรองด้วยตนเองแบบ DNA Test ซึ่งสามารถรับชุดตรวจที่ร้านยาได้ แล้วตรวจด้วยตนเองมาส่งที่ร้านยา ที่ผูกเป็นเครือข่าย รพ. แล้วส่งให้ รพ.ตรวจแล็บ ถ้าผลบวกร้านยามีหน้าที่ตามประชาชนไปรับการรักษาจึงจะครบวงจร หรือเรื่องยาเราต้องการให้มีการติดตามคนไข้ว่าดีขึ้นหรือไม่ ไม่ดีขึ้นก็ส่งไป รพ. ซึ่งที่สภาฯ ดำเนินการแล้วคือ ติดตามอาการคนไข้ ควบคุมร้านยาให้มีเภสัชกรประจำร้าน ผ่านการอบรมจากสภาฯ การันตีเรียบร้อยว่า คนไข้ 30 บาทได้รับบริการมาตรฐาน
ดร.อดิสร กล่าวว่า สวทช. ตระหนักถึงการพัฒนาเทคโนโลยีระบบบริการด้านเภสัชกรรมและด้านการสาธารณสุข ที่มาประยุกต์ใช้ดูแลประชาชนและผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพ จึงสนับสนุนเทคโนโลยีในการพัฒนาระบบการให้บริการด้านเภสัชกรรมและนวัตกรรมบริการด้านสาธารณสุข ให้ข้อมูลความต้องการระหว่างกัน เพื่อพัฒนาระบบบริการให้หน่วยบริการสามารถนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง พร้อมให้การสนับสนุนบุคลากร ทรัพยากร ภายใต้กรอบพันธกิจในการพัฒนาและการใช้งานอย่างเต็มกำลังความสามารถ ให้บริการด้านเภสัชกรรมและสาธารณสุขของไทยมีประสิทธิภาพ ทันสมัย ตอบโจทย์สถานการณ์ปัจจุบัน ช่วยขยายผลการใช้งานในวงกว้างเพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการสุขภาพที่ทั่วถึงและเท่าเทียมต่อไป
นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า การลงนามฯ มีการมุ่งเน้นการป้องกันและรักษาโรคที่เกิดจากยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากคนสูบบุหรี่ แม้สูบไม่ทุกวัน จะมีความเสี่ยงเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 แต่ละปีคนไทยเสียชีวิตจากบุหรี่กว่า 80,000 คน หรือร้อยละ 18 ของการเสียชีวิตทั้งหมด ในจำนวนนี้เสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสองกว่า 6,000 คน คิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 352,000 ล้านบาทต่อปี สสส. มีเครือข่ายร้านยาพาเลิกบุหรี่ 386 ร้านทั่วประเทศ และพัฒนาระบบบริการเภสัชกรรมทางไกลที่ประชาชนเข้าถึงบริการทั่วประเทศ ที่พร้อมจะสนับสนุนความร่วมมือการสร้างเสริมสุขภาพและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเลิกบุหรี่ สุรา และการจัดการปัญหาการใช้ยา เพื่อให้คนไทยมีสุขภาวะดี ปลอดภัยจากควันบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ด้าน ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่า กทม. กล่าวว่า ประชาชนในพื้นที่ กทม.จะได้รับความสะดวกในการเข้าถึงยาในร้านยาใกล้บ้าน นอกจากการรับยาแล้ว ในอนาคตจะมีการพัฒนาระบบทางไกลให้ประชาชนสามารถปรึกษากับเภสัชกรในร้านยาได้ ในกรณีอาการป่วยเบื้องต้นที่ไม่ซับซ้อน ทั้งเชื่อมโยงกับศูนย์บริการสาธารณสุขแต่ละเขตที่มีแพทย์ประจำ เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการปรึกษาทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยเบื้องต้นขณะนี้มีการดำเนินการเชื่อมโยงกับ รพ.กลาง และ รพ.ราชพิพัฒน์ และในอนาคตจะเตรียมพัฒนาเรื่องการส่งต่อผู้ป่วยไปยังศูนย์บริการสาธารณสุขและรพ.ของ กทม. ซึ่งจะเป็นพัฒนาระบบให้ครบวงจรต่อไป