แพทย์เผยลักษระของโรคอะเฟเซีย ภาวะสมองเสื่อมส่วนสื่อสารด้วยภาษา หลัง "บรูซ วิลลิส" ป่วยหนัก เผยมี 3 กลุ่มอาการ ทั้งด้านสั่งการ ความเข้าใจ และทั้งสองแบบ เกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งบาดเจ็บที่สมอง สโตรก สมองอักเสบ เนื้องอกระบบประสาท การรักษาขึ้นกับสาเหตุที่เป็น รักษาระยะแรกได้ผลดีกว่า ผู้ป่วยบางประภทฟื้นฟูได้
จากกรณี บรูซ วิลลิส นักแสดงชื่อดังวัย 68 ปี ป่วยด้วยโรคอะเฟเซีย หรือภาวะบกพร่องงทางการสื่อสารที่เกิดจากสมองส่วนหน้าเสื่อม ซึ่งขณะนี้มีรายงานข่าวว่า อาการแย่ลง จนสูญเสียความสามารถในการสื่อสารแล้วนั้น
เมื่อวันที่ 17 ต.ค. พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงภาวะ "อะเฟเซีย" ว่า อะเฟเซียเป็นกลุ่มอาการทางระบบประสาท ที่เกี่ยวข้องกับการสูญเสียความสามารถของสมองในการสื่อสารด้วยภาษา ผู้ป่วยที่มีอาการอะเฟเซียจะมีความบกพร่องในการใช้ภาษา โดยแบ่งกลุ่มอาการออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.เป็นความผิดปกติด้านการสั่งการด้วยภาษา เช่น พูดไม่ออก สะกดคำผิด เขียนไม่ได้ เขียนไม่เป็นคำ เรียกชื่อสิ่งของไม่ถูก 2.ความผิดปกติด้านความเข้าใจภาษา เช่น ฟังไม่เข้าใจ อ่านไม่เข้าใจ และ 3.ผู้ป่วยบางรายมีความผิดปกติ ทั้งด้านการสั่งการด้วยภาษาและความเข้าใจภาษา ทำให้มีลักษณะเงียบ เฉยเมย ไม่พูด และไม่เข้าใจภาษา อย่างไรก็ตาม หากพบอาการแสดงจากภาวะอะเฟเซีย และได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มแรก จะให้ผลการรักษาดีกว่าการปล่อยอาการไว้ในระยะเวลานาน ควรมาพบแพทย์ประเมินหาสาเหตุ เพื่อการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
ด้าน นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผอ.สถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า อาการอะเฟเซียเกิดจากโรคทางระบบประสาทได้หลายสาเหตุ เช่น การบาดเจ็บที่สมองที่ควบคุมความสามารถด้านภาษา โรคหลอดเลือดสมอง สมองอักเสบ เนื้องอกในระบบประสาท สมองเสื่อม เป็นต้น การวินิจฉัยกลุ่มอาการผู้ป่วยอะเฟเซียต้องทำการซักประวัติอย่างละเอียดเพื่อหาสาเหตุที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสาเหตุจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย แนวทางการป้องกันและการรักษา จึงขึ้นกับสาเหตุของโรคที่เป็นด้วย นอกจากรักษาที่สาเหตุแล้ว ผู้ป่วยจะได้รับการแก้ไขภาวะนี้ด้วยการบำบัดฟื้นฟู การใช้ภาษาและการสื่อสารร่วมด้วย ผู้ป่วยอะเฟเซียที่สามารถฟื้นฟูได้ เช่น อาการอะเฟเซียจากอุบัติเหตุ หรือจากโรคหลอดเลือดสมอง
"หากอาการไม่รุนแรงมาก สามารถทำการบำบัดให้อาการดีขึ้นหรือทุเลาลงได้ด้วยการทำอรรถบำบัด ฝึกการพูด อย่างไรก็ตามสาเหตุของโรคทางระบบประสาทบางสาเหตุ เช่น สมองเสื่อม ผู้ป่วยที่มีอาการอะเฟเซียจากสมองเสื่อม จะมีอาการถดถอยลง การดูแลรักษาจะเป็นการประคับประคองอาการของผู้ป่วยเป็นหลัก โดยให้ข้อมูลในการดูแลแก่ญาติหรือคนใกล้ชิด" นพ.ธนินทร์กล่าว