สธ.แนะ 4 แนวทางตามศาสตร์แพทย์แผนจีน ช่วยกินอาหารเจแบบสุขภาพดี ปรุงผักผลไม้ก่อนกิน ช่วยลดฤทธิ์เย็น กินครบ 5 หมู่ ลดอาหารรสจัด คัมภีร์หวงตี้เน่ยจินระบุชัดทำเกิดโรคได้ ไม่ควรกินตลอดวัน ชูชาแดงเปลือกส้มซานจาหลังอาหาร ช่วยย่อยไขมัน
เมื่อวันที่ 14 ต.ค. นพ.กุลธนิต วนรัตน์ ผอ.กองการแพทย์ทางเลือก กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า เทศกาลถือศีลกินเจปีนี้ตรงกับวันที่ 15 - 23 ต.ค. 2566 ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน มีหลักการดูแลสุขภาพช่วงเทศกาลกินเจ คือ เลือกกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพเพื่อให้เกิดความสมดุลของร่างกาย มีวิธีเลือกดังนี้ 1.ผักและผลไม้ที่นำมาประกอบอาหารเจ ส่วนใหญ่จะมีฤทธิ์เย็น อาจส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกายของคนบางประเภทที่ไม่ชอบความเย็น ทำให้มือเท้าเย็น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ท้องอืด ท้องเสียง่าย ง่วงบ่อย รู้สึกไม่สดชื่น ให้นำไปปรุงด้วยความร้อนเพื่อลดฤทธิ์เย็นลง 2.กินอาหารให้หลากหลายครบ 5 หมู่ ให้ร่างกายรับสารอาหารอย่างเพียงพอ ซึ่งโปรตีนสามารถรับในรูปแบบธัญพืชและพืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง อัลมอนด์ โปรตีนเกษตร และ เต้าหู้ เพื่อทดแทนโปรตีนเนื้อสัตว์ 3.ลดของทอด ของมัน และแป้ง หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด หวาน มัน และ เค็ม
"ตามคัมภีร์หวงตี้เน่ยจิง ระบุว่า การทานอาหารรสหวาน มัน เค็ม รสจัด มากเกินทำให้เกิดโรคได้ ดังนั้นจึงควรลดอาหารรสจัด และเปลี่ยนการปรุงอาหารจากผัดหรือใช้น้ำมัน มาเป็นการลวกหรือนึ่งแทน" นพ.กุลธนิตกล่าว
นพ.กุลธนิตกล่าวว่า และ 4.ไม่ควรกินอาหารต่อเนื่องตลอดทั้งวัน และไม่กินอิ่มเกินไป ควรกินอาหารแต่ละมื้อโดยมีหลักที่ว่า “มื้อเช้าให้กินดี มื้อกลางวันกินให้อิ่ม มื้อเย็นกินให้น้อย” และหลังมื้ออาหารให้ดื่มชาสมุนไพรที่มีสรรพคุณช่วยการย่อย เช่น ชาแดงเปลือกส้มซานจา ประกอบด้วย ชาแดง 2 กรัม เปลือกส้ม 9 กรัม และซานจา 7 กรัม สรรพคุณช่วยย่อยอาหารจำพวกไขมันได้ อย่างไรก็ตาม การกินเจ ไม่เหมาะกับผู้ป่วยหรือผู้ที่กำลังพักฟื้นร่างกาย เนื่องจากร่างกายต้องการสารอาหารที่ครบถ้วน เพื่อมาซ่อมแซมส่วนต่างๆ รวมถึงเด็กเล็กและหญิงตั้งครรภ์ หรือผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่มีภาวะฟอสฟอรัสในเลือดสูง เพราะอาหารเจที่เป็นโปรตีนจากถั่วเหลืองจะมีปริมาณฟอสฟอรัสค่อนข้างสูง อาจมีผลต่อโรคได้ นอกจากนี้ ควรออกกำลังกายช่วงเทศกาลกินเจด้วย เช่น รำมวยไทเก๊ก ชี่กง ว่ายน้ำ เดินเบาๆ หรือตามความเหมาะสมของสภาพร่างกาย ทุกวัน วันละ 1 - 2 ครั้ง ช่วงเช้าตรู่หรือช่วงหลังอาหารเย็น ประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ทำจิตใจให้สงบ