รองศาสตราจารย์ ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
โครงสร้างประชากรไทยในอนาคต เข้าสู่ภาวะคนสูงอายุเพิ่มขึ้น ประชากรวัยเด็ก อีกใน 20 ปีข้างหน้า จะทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลประชากรวัยทำงานที่กำลังจะก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุต่อไป ซึ่งจะไม่ใช่การที่ต้องดูแลสมาชิกในครัวเรือนเท่านั้น แต่จะต้องสร้าง GDP ในระบบเศรษฐกิจของประเทศที่จะนำมาดูแลผู้สูงอายุในภาพรวมอีกด้วย จากสถิติอัตราการเกิดในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 500,000 คนต่อปี แต่จำนวนผู้สูงอายุค่อนข้างมีจำนวนมาก ในอีก 20 ปีข้างหน้า จำนวนผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นเป็น 30% ของประชากร หรือ 1 ใน 3 ซึ่งจะเป็นจำนวนค่อนข้ามากในสังคม
จากสถิติเมื่อปี พ.ศ. 2513 - 2514 อัตราเด็กเกิดใหม่ประมาณ 1 ล้านคนต่อปี ผ่านไป 50 ปี เด็กเกิดใหม่เหลือประมาณ 500,000 คนต่อปี คิดเป็นประชากรร้อยละ 16 ของสัดส่วนประชากรทั้งประเทศ สังคมสูงวัยจึงไม่ได้เกี่ยวข้องแค่สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุเท่านั้น ยังรวมถึงสัดส่วนการเกิดของประชากรวัยเด็กที่ลดน้อยลงด้วย ไม่ว่าจะเป็นวัยเด็ก วัยทำงาน หรือกลุ่มคนที่กำลังจะย่างเข้าสู่วัยสูงอายุอีก 20 ปี ข้างหน้าก็ตาม
ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมที่เรียกว่า Aged society หรือสังคมสูงวัยระดับสมบูรณ์ ตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2565 โดยเทียบจำนวนผู้สูงอายุกับจำนวนประชากรทั้งประเทศ กล่าวคือ Aged society จะมีจำนวนผู้มีอายุ 60 ปี เกิน 20% และมีจำนวนผู้มีอายุ 65 ปี เกิน 14% จะเห็นว่ามีจำนวนมากกว่ายุคก่อนหน้าที่เรียกว่า Aging society คือสังคมกำลังจะสูงวัย ซึ่งมีจำนวนผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีอยู่ประมาณ 10% หรือ 65 ปีขึ้นไป 7% และในอนาคตประเทศไทยอีก 10 ปีข้างหน้า จะเข้าสู่สังคมที่เรียกว่า Super aged ซึ่งมีจำนวนผู้ที่มีอายุ 60 ปี เกิน 25%
เมื่อเรามองย้อนกลับมาในครอบครัว รุ่นปู่ย่า ตายาย ลูกหลายคน ที่สามารถดูแลพ่อแม่สองคนได้อย่างดี สามารถจัดสรรได้ทั้งค่าใช้จ่าย และเวลาที่ทันท่วงทีในการช่วยเหลือได้ แต่ในปัจจุบันหลายครัวเรือนที่ผู้สูงอายุที่อยู่เพียงลำพังมีอัตราเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับผู้สูงอายุที่อยู่ลำพังสองคนก็เพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้สูงอายุ สองประเภทนี้เป็นกลุ่มที่ค่อนข้างเปราะบาง ไม่มีคนดูแล คนใกล้ชิดผู้สูงอายุกลายเป็นคนข้างบ้าน แตกต่างจากเมื่อ 30-40 ปีก่อน ที่คนในครอบครัวยังไม่มีการย้ายถิ่นฐานออกไปไกลจากครัวเรือนเดิมมาก จีงไม่กระทบต่อความสัมพันธ์และการดูแลในครอบครัวเท่าใดนัก เมื่อเทียบกับปัจจุบันสภาพสังคมเปลี่ยนไป ลูกย้ายไปทำงานในตัวเมือง หรือมาทำงานในกรุงเทพ ความช่วยเหลือหรือดูแลอย่างใกล้ชิด และทันอย่างท่วงทีในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินมีน้อยลง การสนับสนุนภายในครัวเรือนทำได้ยากขึ้น ประชากรที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพหรือชุมชนเมือง จะแตกต่างกับประชากรที่อาศัยอยู่ในต่างจังหวัดที่ยังมีข้อได้เปรียบในการช่วยกันดูแล มีทุนทางสังคม (Social Capital) สูง เพราะอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน ชีวิตในชุมชนเมืองมีความสัมพันธ์ที่ผิวเผิน ไว้ใจ รู้จักและเกื้อกูลกันน้อย จึงต้องมีกลไกที่ทำให้รู้จักกัน ช่วยเหลือดูแลกันได้
การเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ เป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับวัยสูงอายุที่ครอบครัวต้องใส่ใจ ที่สำคัญมี 5 เรื่อง เริ่มจาก “อาหาร” ถ้าเราไม่เคยดูแลผู้สูงอายุ เราจะไม่ทราบว่าอาหารแบบใดเหมาะสมกับผู้สูงวัย เช่น สารอาหารทดแทนในกรณีที่ผู้สูงอายุเบื่ออาหาร อาหารสุขภาพหรืออาหารทางเลือก นอกจากนี้ ยังรวมถึงการที่ผู้สูงอายุต้องออกไปซื้ออาหารเพื่อการบริโภค เป็นเรื่องที่ค่อนข้างลำบาก แตกต่างกับต่างประเทศ เช่นในประเทศญี่ปุ่น ที่มีร้านค้าให้บริการส่งอาหารและของใช้ประจำวันให้ผู้สูงอายุซึ่งทำในลักษณะที่เป็นธุรกิจเพื่อสังคม นอกจากนี้ การใช้ชีวิตประจำวันภายในบ้าน ต้องมีการปรับปรุงที่อยู่อาศัย สมาชิกในครอบครัวต้องคอยสังเกต และพิจารณาพื้นที่ต่าง ๆ ภายในบ้าน ว่ามีจุดไหนที่ต้องปรับหรือแก้ไข เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น การสะดุดล้ม ลื่น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “อารยสถาปัตย์” เพื่อเอื้อต่อการใช้ชีวิตประจำวันขอบผู้สูงอายุนั่นเอง การใส่ใจดูแลสุขภาพ ด้วยการออกกำลังกาย รวมถึงอารมณ์ของผู้สูงอายุ ที่อาจจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงในร่างกายที่ถดถอยตามกาลเวลา สังคมบันเทิง เพราะเขามีเวลามากขึ้น ติดโซเชียลและตกเป็นเหยื่อมากขึ้น มีเวลาไปเที่ยว ดูหนัง มากขึ้น หรือการเรียนรู้อะไรในบางอย่างที่เค้าชื่นชอบ และสุดท้ายที่ไม่ควรมองข้ามคือ การเดินทาง อายุเยอะมากไปเที่ยวไม่ไหว แต่จะไปตรวจร่างกาย ตามนัดโรงพยาบาลเป็นประจำ
ส่วนเรื่องของการรับมือกับสังคมสูงวัยนั้น เกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วนในสังคม ทั้งตนเอง ชุมชน และระดับนโยบาย ในภาคประชาชน เริ่มได้ตั้งแต่วัยเด็กและวัยทำงาน มีประเด็นหลักๆ อยู่ 2 ข้อ ที่จะสามารถวางแผนให้ตนเองให้กลายเป็นผู้สูงวัยในอนาคตได้ เริ่มจาก “การออมเงิน” เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ปรับเปลี่ยนความคิดให้ออมเงินก่อน แล้วมีเหลือค่อยนำมาใช้ จากแต่เดิมใช้เหลือแล้วถึงออม เพราะในอนาคตเราต้องอยู่กับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่สูงขึ้น ตามอัตราเงินเฟ้อที่เปลี่ยนไป ทุกอย่างแพงขึ้น และข้อถัดไปคือ “การออมสุขภาพ” การรับมือคือเราต้องแก่ให้ช้าที่สุด กำลังกายต้องดี สมองต้องดี ฉับไว มีปัญหาทางสุขภาพร่างกายน้อยที่สุด ให้ความสำคัญกับการออกกำลังกายและดูแลสุขภาพ ปรับเปลี่ยนแนวคิดจากถ้ามีเวลาถึงออกกำลังกาย ให้เป็นการจัดสรรเวลาดูแลตัวเอง ฝึกให้จนเป็นนิสัยและความเคยชิน ถัดไปคือชุมชนท้องถิ่น ซึ่งอยู่ใกล้และดูแลได้ทันท่วงที ถ้าหากชุมชนใด ยังไม่มีความพร้อม เพราะยังไม่มีใครเริ่ม เราอาจจะต้องช่วยชุมชนในการสร้างตรงนี้ เพราะอยู่ใกล้ชิดกับผู้สูงวัยมากทีสุด
สำหรับภาพรวมของประเทศนั้น ภาครัฐต้องมีกลไกที่สนับสนุน เพื่อให้เกิดความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ ชุมชน และภาคประชาชน ในการรับมือกับสังคมสูงวัย คนที่มีรายได้ปานกลางจะมีปัญหาค่อนข้างน้อยกว่าคนที่รายได้รายวัน หรือลูกจ้างรายวัน ดังนั้นภาครัฐอาจจะต้องเข้ามาเป็นแรงสนับสนุน และชุมชนก็ต้องมีกลไกช่วยเหลือ เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ลงพื้นที่เพื่อดูแลชุมชน หมู่บ้าน เป็นต้น