“วันนอร์” รับพิจารณาออกกฎระเบียบป้องกันแทรกแซงนโยบายคุมยาสูบ จาก บ.บุหรี่ - ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง หลัง “หมอประกิต” นำทีม คผยช. เข้าหารือ เหตุขัดอนุสัญญาคุมยาสูบโลก
เมื่อวันที่ 11 ต.ค. ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ (คผยช.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา ตนพร้อมด้วยนางฐาณิษา สุขเกษม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คผยช. กองงานควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค และนักวิชาการด้านการควบคุมยาสูบ ได้เข้าพบนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ออกกฎระเบียบป้องกันการแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบจากบริษัทบุหรี่และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจยาสูบ ตามพันธกรณีที่ไทยเป็นภาคีอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน ได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยไปเมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2566 ที่มีชื่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทบุหรี่ 2 คน ร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญฯ และในสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดก่อน ก็มีการตั้งบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทบุหรี่เป็นที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการที่พิจารณากฎหมายบุหรี่ไฟฟ้า
“ท่านประธานสภาฯ ได้รับเรื่องไว้ และสั่งการให้นำเรื่องเข้าในที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ชุดดังกล่าว เพื่อพิจารณาว่าการแต่งตั้งบุคคลที่เป็นปัญหาเข้าข่ายขัดต่อข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ. 2563 หรือไม่ พร้อมกับพิจารณาการออกระเบียบใหม่เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นอีกในอนาคต และเป็นการป้องกันการแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบจากธุรกิจยาสูบ ถือเป็นการดำเนินการตามข้อกำหนดของมาตรา 5.3 อนุสัญญาควบคุมยาสูบฯ โดยนักวิชาการด้านการควบคุมยาสูบพร้อมที่จะร่วมมือในการกำหนดกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ. 2563 หมวด 2 จริยธรรมอันเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกและกรรมาธิการ ข้อ 10 ระบุว่า สมาชิกและกรรมาธิการต้องรักษาไว้ซึ่งชื่อเสียงของสภาผู้แทนราษฎร และไม่กระทำการใด ๆ อันอาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติภูมิของประเทศชาติและสภาผู้แทนราษฎร” ศ.นพ.ประกิต กล่าว
ศ.นพ.ประกิต กล่าวต่อว่า การแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบโดยบริษัทบุหรี่หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จะส่งผลเสียต่อนโยบายควบคุมยาสูบ ที่มีวัตถุประสงค์คุ้มครองสุขภาพของประชาชน ซึ่งการแต่งตั้งกรรมมาธิการวิสามัญฯ ชุดดังกล่าว สร้างความเสื่อมเสียต่อเกียรติภูมิของไทยในเวทีนานาชาติ ส่งผลให้รายงานการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ อาจขาดความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะในสายตาของนานาประเทศ ทั้งนี้ ไทยได้รับการคัดเลือกจากสำนักเลขาธิการอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก ให้เป็นศูนย์วิชาการ มาตรา 5.3 ( FCTC Article 5.3 Knowledge Hub ) ที่ว่าด้วยการป้องกันการแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูล แหล่งเรียนรู้ และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับมาตรา 5.3 ให้แก่ภาคีอนุสัญญาควบคุมยาสูบทั้ง 181 ประเทศ โดยศูนย์วิชาการนี้อยู่ภายใต้การดูแลของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล การที่สภาผู้แทนราษฎรไทย มีการออกกฎระเบียบตามมาตรา 5.3 เป็นการแสดงออกถึงการสนับสนุนการดำเนินการของศูนย์วิชาการ มาตรา 5.3 ของมหาวิทยาลัยทั้ง 2 แห่งนี้