"ชลน่าน" เผยผลหารือสมาคมสหอุตฯ กัญชง-กัญชา ขอความชัดเจนสถานะ "ยาเสพติด" ไม่ติดใจหากดึง "ช่อดอก" หวนคืน เชื่อทำตาม กม.ได้ ส่วนประกาศส่วนใดเพิ่มหรือไม่กำลังพิจารณา หากรู้ผลจะเสนอสภา ด้านกลุ่มปลูกครัวเรือน ต้องดูกฎหมายใหม่อนุญาตแค่ไหน หากไม่มีอาจต้องออกบทเฉพาะกาลรองรับ
เมื่อวันที่ 11 ต.ค. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์กรณีหารือร่วมกับสมาคมสหอุตสาหกรรมพืชกัญชงและกัญชา เมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา ว่า ทางกลุ่มมีข้อเสนอในฐานะผู้ประกอบการว่า ประสบปัญหาอะไร มีความต้องการอะไร จึงแนะนำปัญหาและข้อเสนอต่อ สธ. เช่น บอกว่าเป็นนักลงทุนพอมีนโยบายเรื่องนี้ออกมาจากรัฐบาลก่อนๆ ก็เตรียมตัวลงทุนเป็นหมื่นล้านบาท พอมีความไม่ชัดเจนในเรื่องกฎหมายสถานะของกัญชงกัญชา ว่าจะมีสถานะอย่างไร ทำให้ขับเคลื่อนต่อไม่ได้
"จะเป็นยาเสพติดหรือไม่ พอบอกว่าไม่ชัดเจน ก็ขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจไม่ได้ จึงมีข้อเสนอว่าต้องให้มีความชัดเจน สถานะกัญชงและกัญชาเป็นอย่างไร จะเป็นยาเสพติดหรือไม่เป็นยาเสพติด เขาไม่ติดใจ แต่ขอให้กำหนดให้ชัดเจนเพื่อทำธุรกิจให้สอดรับได้" นพ.ชลน่านกล่าว
ถามว่า จะนำข้อเสนอเหล่านี้มาปรับในเรื่องของการแก้กฎหมายด้วยหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า แน่นอน เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นเราเข้าใจและเห็นใจเขากับนักลงทุน บริษัทหนึ่งเป็น 200 - 300 ล้านบาท รวมๆ แล้วเป็นหมื่นล้านบาท แต่ยังไม่มีผลตอบแทนเลย ยังไม่มีการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ เพราะความชัดเจนในเรื่องตัวผลิตภัณฑ์หรือสถานะของผลิตภัณฑ์ยังไม่ชัด ยังไม่มีกฎหมายรองรับ สิ่งที่เราทำก็ต้องสร้างความชัดเจนตรงนี้ สถานะจะเป็นหรือไม่เป็นยาเสพติด สถานะที่เป็นอยู่แล้วพอหรือไม่ จะต้องไปแก้ประกาศเพิ่มเติมหรือไม่ก็ต้องดู
"หรือกัญชงกับกัญชา ควรจะแยกจากกันหรือไม่ เพราะประโยชน์การใช้กัญชงนั้นต่างจากกัญชา กัญชงสามารถใช้เส้นใยในทางอุตสาหกรรมเพื่อการพาณิชย์ได้ แต่กัญชาไม่มีประเภทนี้ กัญชาใช้เพื่อสุขภาพและการแพทย์ได้ แต่กัญชงมีมากกว่านั้น เขาก็เสนอว่าควรจะมีการแยกในการเขียนให้ชัดเจนมากขึ้นหรือไม่ ควรจะมีกฎหมายมารองรับให้เขียนให้ชัดเจน เพื่อที่จะได้นำข้อกำหนดหรือการควบคุมทางกฎหมาย ไปเป็นแนวทางปฏิบัติในการทำธุรกิจ" นพ.ชลน่านกล่าว
ถามว่าช่วงที่สถานะกัญชงกัญชายังไม่ชัดเจนเช่นนี้ ภาคธุรกิจยังสามารถขับเคลื่อนต่อไปก่อนได้ใช่หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ตามกฎหมายเดิมเขาสามารถเดินหน้าไปได้ส่วนหนึ่ง เช่น ถ้าต้องการผลิตผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ ก็ต้องทำตามข้อกำหนดตามที่กฎหมายบัญญัติ เช่น กฎหมายต่างๆ ของ อย. ที่จะต้องขออนุญาตอนุมัติต่างๆ หรือกฎหมายคุ้มครองภูมิปัญญาทางการแพทย์แผนไทย เป็นต้น นอกจากนี้ สาร THC ไม่เกิน 0.2% ก็ไม่ใช่ยาเสพติดสามารถผลิตได้ หรือสาร CBD เอาไปทำผลิตทางการแพทย์เอาไปเป็นยาก็สามารถทำไปได้ แต่ว่าประเด็นความไม่ชัดเจนเรื่องของการควบคุม การอนุญาต การอนุมัติต่างๆ ก็จะมีประเด็นปัญหาอยู่ถ้าสถานะยังไม่ชัด
ถามอีกว่าทางกลุ่มอุตสาหกรรม หารือหรือไม่ว่าถ้ามีการเอาช่อดอกกลับไปเป็นยาเสพติด จะยังสามารถทำธุรกิจต่างๆ ต่อไปได้หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ผู้ประกอบการที่มาบอกว่า จะเอาช่อดอกกลับไปเป็นยาเสะติด เขาก็ไม่ติดใจ แต่ขอความชัดเจนเท่านั้น ตรงนี้เป็นข้อเสนอของเขา เขาบอดว่ายังสามารถทำธุรกิจได้ ขอเพียงให้มีความชัดเจนว่าจะทำอย่างไร จะเกี่ยวข้องกับกฎหมายฉบับใด เกี่ยวข้องกับกฎหมายยาเสพติดหรือไม่ กฎหมายของแพทย์แผนไทย หรือกฎหมายของตัวกัญชงกัญชาเองหรือไม่
ถามต่อว่านอกจากตัวสารสกัด THC เกิน 0.2% ที่เป็นยาเสพติด จะพิจารณาส่วนใดเพิ่มเติมอีก นพ.ชลน่านกล่าวว่า คณะทำงานที่ยกร่างกฎหมายกำลังพิจารณาอยู่ ก็จะต้องมาพูดคุยกันว่านอกเหนือจากที่ประกาศไปแล้ว มีความจำเป็นต้องประกาศอะไรที่จะเป็นยาเสพติดเพิ่มเติมหรือไม่ ก็กำลังพิจารณากันอยู่ก็ต้องอาศัยข้อมูลรอบคอบรอบด้าน ถามย้ำว่าวางกรอบเวลาไว้หรือไม่ว่าจะต้องได้ข้อสรุปเมื่อใด นพ.ชลน่านกล่าวว่า กำลังเร่งทำกันอยู่ถ้าเสร็จแล้วจะเสนอเข้าสู่สภา
เมื่อถามถึงก่อนหน้านี้มีแอปพลิเคชัน "ปลูกกัญ" ของ อย.ที่ให้ขึ้นทะเบียนผู้ที่แสดงความจำนงในการปลูกกัญชามีประมาณหลายล้านคน ถ้ามีการล็อกขึ้นมา จะได้รับผลกระทบหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ต้องไปดูตัวกฎหมายที่เขียนขึ้นมาใหม่ เช่น อนุญาตให้ผลิตได้ขนาดไหน จะเป็นลักษณะของอุตสาหกรรม ลักษณะวิสาหกิจหรือไม่ ก็ต้องไปดูในรายละเอียด ถ้ากฎหมายออกมาอย่างไร อะไรที่เกิดขึ้นมาก่อนกฎหมายบังคับใช้ อาจจะต้องมีบทเฉพาะกาลขึ้นมารองรับ มิเช่นนั้นก็จะเป็นปัญหา เพราะว่าเดิมมีใบอนุญาตให้ปลูกในครัวเรือน 6 ต้นบ้าง 10 ต้น 15 ต้นบ้าง ถ้ากฎหมายใหม่ไม่มารองรับ ก็ต้องดูแลเขาทำอย่างไรให้ไม่ผิด มิเช่นนั้นก็จะเป็นเหยื่อกันอีก