xs
xsm
sm
md
lg

สพศท.จับตาซูเปอร์บอร์สุขภาพพัฒนางาน สธ. ไม่ไว้ใจมีการเมืองเข้าร่วม หวั่นทำพัฒนาเบี่ยงเบน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แฟ้มภาพ
สพศท.จับตาดู ซูเปอร์บอร์ดสุขภาพพัฒนางานสาธารณสุข ไม่ไว้ใจดึงการเมืองเข้ามามีส่วนร่วม หวั่นสร้างผลกระทบ แนวคิดพัฒนาเบี่ยงเบน ขณะที่ สธ.รู้เรื่องสุขภาพมากที่สุด กลับส่งเสียงได้น้อยสุด ไม่มีการรับฟังคนทำงาน

เมื่อวันที่ 11 ต.ค. นพ.ประดิษฐ์ ไชยบุตร ประธานสมาพันธ์โรงพยาบาลศูนย์ /โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) กล่าวถึงกรณีการตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ หลังเพจเฟซบุ๊กสมาพันธ์ฯ ออกมาโพสต์ข้อความถึงบอร์ดสุขภาพฯ เป็นการฉีก สธ.เป็นชิ้นๆ การเงินอยู่ สปสช. พัฒนาคนอยู่กับมหาวิทยาลัย ค่าตอบแทนอยู่กรมบัญชีกลาง ทำนโยบาย Super broad ลดอำนาจ รมต.และปลัดสธ. ว่า เรื่องนี้พูดยาก เพราะเรายังไม่รู้ว่า บอร์ดชุดนี้มีแนวทางพัฒนางานสาธารณสุขอย่างไร แต่ที่ผ่านมา องค์ประกอบที่พัฒนางานสาธารณสุขมีการแยกเป็นส่วนๆ โดย สปสช.ดูเรื่องเงินงบประมาณ กระทรวงสาธารณุสข (สธ.) ดูแลเรื่องการบริหาร กำหนดตำแหน่งข้าราชการ กำลังคนด้านสาธารณสุขฃอยู่ที่กพ.เป็นใหญ่ และเรื่องค่าตอบแทน ระบบเงินเดือนต่างๆ อยู่ที่กระทรวงการคลัง ดังนั้นคิดว่าบทบาทของ สธ.ที่จะพัฒนางานสาธารณสุข กลายเป็นว่ามีส่วนค่อนข้างน้อย บอร์ดที่จะมาดูในภาพรวมที่คลุมเกือบทั้งหมด

“ก็ยังไม่ทราบว่า สธ.ที่เป็นกำลังหลักในการดูแลสุขภาพประชาชน กำลังคน ความรู้ และกลไกในการการดูแลประชาชน ผมยังหวังว่า ปลัด สธ.ที่ดูแลบุคลากรหลายแสนคนจะมีอำนาจหน้าที่ จะมีเสียงดังมากน้อยแค่ไหนในบอร์ดนี้ แล้วบอร์ดนี้จะมีทิศทางอย่างไร แต่กลายเป็นว่า บอร์ดนี้มีทั้งนักการเมือง มีองค์ประกอบหลากหลาย ได้แต่ตั้งคำถามและจับตาดู เพราะไม่ทราบจริงๆ ว่า บอร์ดนี้ตั้งขึ้นมาแล้ว งานสาธารณสุขจะไปทางไหน จะเกิดประโยชน์อะไรกับระบบสาธารณสุข จะสร้างประโยชน์กับประชาชนแค่ไหน จะดูแลกำลังคนที่เป็นกำลังหลักของงานสาธารณสุขได้แค่ไหน” นพ.ประดิษฐ์ กล่าว

เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้มีความพยายามคัดค้านการตั้งบอร์ดดังกล่าว เนื่องจากมองว่าจะเป็นการครอบงำ ลดอำนาจ สธ. โดย รมว.สธ.ระบุว่า สธ.ทำหน้าที่เหมือนกองเลขาฯ บอร์ด นพ.ประดิษฐ์ กล่าวว่า ถ้าตนนั่งอยู่ใน สธ. ก็คงรู้สึกว่า กลายเป็นคนที่รู้ดีที่สุดในเรื่องของงานสาธารณสุข เป็นคนที่มีอำนาจน้อย ซึ่งไม่รู้ว่าน้อยแต่ไหน แต่อำนาจน้อย มีเสียงค่อนข้างน้อยในการบริหารจัดการงานสาธารณสุข

ถามว่าก่อนหน้านี้ รมว.สธ.เคยระบุในวันรับตำแหน่งว่า บอร์ดดังกล่าวจะมาทำหน้าที่บูรณาการการทำงานที่เคยทำแยกส่วนกันอยู่ให้ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นพ.ประดิษฐ์ กล่าวว่า จริงๆ ดูรูปการณ์ องค์ประกอบของคณะกรรมการก็เป็นไปในทิศทางนั้น เพราะมีทุกภาคส่วนเข้ามาอยู่ในคณะกรรมการฯ แต่เราเคยบอกว่า งานสาธารณสุขควรจะเอาการเมืองออกไป การเมืองไม่ควรจะมายุ่งมากนัก เพราะงานสาธารณสุขต้องตรงไปตรงมาตามหลักวิชาการ ตามทฤษฎี เพื่อสุขภาพ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ถ้ามีอย่างอื่นเข้ามาทำให้แนวคิดในการพัฒนาเบี่ยงเบนไป ตนคิดว่า การเมืองก็มีส่วนตรงนี้เหมือนกัน จะเห็นว่า ปัญหาหลายๆ อย่างใน สธ.เป็นเรื่องที่การเมืองเข้ามา เราก็ตั้งคำถามเหมือนกันว่า ตั้งมาแล้วจะทำได้อย่างที่ประกาศไว้หรือไม่ เราไม่ค่อยไว้ใจการเมืองเท่าไร

ถามว่ามีการตั้งบอร์ดนี้เร็วไปหรือไม่ ตกหล่นกระบวนการอะไรไปหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้เคยมีการคัดค้านมาก่อน นพ.ประดิษฐ์ กล่าวว่า แนวคิดนี้มีคนคิดมานานแล้ว ไม่ใช่ว่าเพิ่งเริ่ม แล้วก็มีคนตั้งข้อสังเกต มีคนทักท้วงหลายๆ ประเด็นว่าจะเกิดประโยชน์มากน้อยแค่ไหน แต่เมื่อมันรันด้วยการเมือง กลายเป็นว่าเขาต้องการเร็ว ต้องการควิกวินหลายๆ เรื่อง แสดงให้เห็นว่า คนที่ทำงาน คนที่มีส่วนในเรื่องนี้ กลับมีส่วนร่วมน้อยในการผลักดัน และจริงๆ หลายเรื่อง หลายราวของ สธ.คนข้างล่างไม่มีเสียง ไม่มีการรับฟังความเห็นคนข้างล่างเลย ตนคิดว่าเรื่องการตั้งบอร์ดฯ ยิ่งน้อยไปกันใหญ่ ไม่มีการฟังเสียง ทั้งที่เสียงคนทำงานข้างล่างน่าจะเป็นเสียงที่ดัง หลายเรื่องคนข้างบนไม่รู้ ไม่ทราบ หรือไม่ได้ข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน อย่างไรก็ตาม สพศท.มองว่า เมื่อเขาเดินหน้าแล้วก็คงต้องเฝ้าดูว่า บอร์ดนี้จะทำอะไร เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ต่อระบบ ต่อภาพรวมหรือไม่ เราทำได้เพียงจับตาดู


กำลังโหลดความคิดเห็น