ภาคประชาชน แนะซูเปอร์บอร์ดสุขภาพแก้ปัญหาถ่ายโอน รพ.สต. หลังพบงบผู้ป่วยนอกอยู่ รพ.สต. ทำไปตรวจ รพ.ชุมชนไม่ได้ ต้องกลับมาเอาใบส่งตัว สวนทางนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ หนุนแก้ไขหลายกองทุนสุขภาพ มีความซ้ำซ้อน รวมถึงปัญหาบัตรประกันแรงงานต่างด้าว
เมื่อวันที่ 10 ต.ค. นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผอ.มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวถึงกรณีตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ เป็นรองประธาน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นรองประธาน และ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นเลขานุการ โดยมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์บอร์ดชุดนี้มีแต่พรรคเพื่อไทย จะเกิดการบูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพหรือไม่ ว่า คณะกรรมการฯ ที่ตั้งขึ้นยังไม่แน่ใจว่าจะมีภารกิจหลักอะไร เท่าที่ทราบอาจไม่ได้มองถึงการบริหารจัดการ แต่อาจมองในเชิงนโยบายมากกว่า ซึ่งจริงๆ แล้วนโยบายสาธารณสุขดีอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องการการปฏิบัติการหรือคำสั่งที่จะช่วยให้คนทำงาน ทำงานได้ดีกว่านี้ แต่โดยหลักการของบอร์ดถือว่า ควรมีหน้าที่ในการบูรณาการทุกภาคส่วนได้จริงๆ อย่างเรื่องแรกที่ควรทำและกำลังเป็นปัญหามาก คือ การถ่ายโอน รพ.สต.ไป อบจ. มีปัญหาเรื่องงบประมาณ เนื่องจากเดิมการบริหารจัดการจะเป็นเขตสุขภาพ (CUP) แต่ล่าสุดมีการปรับเปลี่ยน
นายนิมิตร์ กล่าวว่า การบริหารเรื่องงบประมาณที่จะโอนไป รพ.สต. มีหลายความคิดเห็น อย่างเงินค่าผู้ป่วยนอกที่ สปสช.ต้องจ่ายให้ชุมชน เมื่อย้ายก็ควรโอนตาม รพ.สต.ที่ไปท้องถิ่นด้วย หมายความว่า หากประชาชนจะไปหาหมอ จะต้องไป รพ.สต.ก่อน เพราะเงินผู้ป่วยนอกอยู่ตรงนั้น แต่ต้องถามกลับว่า ขีดความสามารถของ รพ.สต. ที่เท่ากับ รพ.ชุมชน ที่เคยดูแลผู้ป่วยนอกปัจจุบันมีกี่แห่ง หาก รพ.สต.ยังไม่พร้อมก็มีการออกระเบียบว่า ประชาชนที่จะรักษาและต้องไปที่ รพ.ชุมชน ต้องมาเอาใบส่งตัวจาก รพ.สต.ก่อน เพื่อที่จะได้ไปรักษา รพ.ชุมชนได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และ รพ.สต.ก็ต้องไปตามจ่าย
“ความเดือดร้อนอยู่ที่ประชาชน เพราะเดิมไม่มีใบส่งตัว ก็ไปรักษาที่ รพ.ชุมชนได้ เพราะอยู่ระบบเดียวกัน เมื่อออกกติกาแบบนี้ขึ้นมา กลายเป็นผลกระทบ บางที่ออกใบส่งตัวเป็นรายครั้ง บางที่ออกเป็น 6 เดือน ออกเป็น 1 ปีก็มี คนที่ไม่รู้ไปรักษา รพ.ชุมชน ก็ต้องจ่ายเงินเอง ซึ่งมติบอร์ด สปสช.ออกมาแล้ว ตอนนี้เริ่มเกิดปัญหา เช่น กาญจนบุรี ถ่ายโอน รพ.สต.100% มีข้อตกลงว่า ผู้ป่วยนอกต้องขอใบส่งตัวจาก รพ.สต.ก่อนไปรักษา ปัญหาคือ ใครจะมาแก้ไขเรื่องนี้ กลายเป็นว่าต้องมีการพิจารณาใหม่หรือไม่ เรื่องนี้หากบอร์ดดังกล่าวนำไปพิจารณาแก้ไขจะเป็นเรื่องที่ดีมาก และควรดำเนินการให้เร็วที่สุด” นายนิมิตร์ กล่าว
ถามว่ากรณีนี้สวนทางกับนโยบายรัฐบาลเรื่องบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ไม่มีใบส่งตัว นายนิมิตร์ กล่าวว่า ใช่ เพราะรัฐบาลบอกว่าบัตรประชาชนใบเดียวไปที่ไหนก็ได้ แบบนี้ก็ไม่จริง ดังนั้น คณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติต้องเข้ามาดูเรื่องนี้ด่วน เพราะอย่างที่ตนได้รับเรื่องก็จะมีผู้ป่วยเอชไอวีต้องไปรับยาที่ รพ.ชุมชน แต่ รพ.บอกว่า ให้ไปเอาใบส่งตัวที่ รพ.สต. ซึ่งเดิมไม่เคยมีมาก่อน ตรงนี้มองว่าปัญหาจะค่อยๆ ขยายไปพื้นที่อื่นๆ ไม่ใช่แค่กาญจนบุรี ต้องรีบแก้ไขทันที
ถามถึงการตั้งข้อสังเกตว่าบอร์ดนี้มี น.ส.แพทองธาร เป็นรองประธาน อาจมีนัยทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย นายนิมิตร์ กล่าวว่า ตนมองว่าทางฝ่ายการเมืองที่เป็นรัฐบาล แล้วมีนโยบายเรื่องสุขภาพ ก็มีความต้องการผลักดันนโยบายให้เกิดขึ้นจริง เขาก็ต้องไปหากลไกมาตอบโจทย์นโยบายนั้น ตนจึงมีความเห็นส่วนตัวว่า ทางพรรคการเมืองเองอาจจะมองว่ากลไกสุขภาพที่มีอยู่เดิม อาจจะไม่ตอบโจทย์ จึงต้องตั้งใหม่ ซึ่งหลังจากตั้งมาแล้วนั้น สิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำคือ ตอบคำถามให้ได้ว่า คณะกรรมการฯ ชุดใหม่นี้มีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ เมื่อดูสัดส่วนของคณะกรรมการฯ ก็พบว่า สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่มีอยู่ในสัดส่วนกรรมการ ทั้งที่ สช. ดูเรื่องนโยบายสุขภาพใหญ่ของประเทศ จึงมองว่าพรรคการเมืองอาจคิดว่ากลไกเดิมอย่าง สช. ไม่สามารถตอบสนองนโยบายของพรรคได้
“เข้าใจว่าพรรคการเมืองต่างอยากเข้ามาแก้ไขเรื่องนี้ แต่ถ้าจะเข้ามาแก้ไขก็จะต้องเป็นกลไกที่ตอบโจทย์ได้จริงๆ จะต้องดูทิศทางการขับเคลื่อนของคณะกรรมการฯชุดนี้ ว่าจะเข้ามาแก้ไขปัญหาอย่างไร เช่น นโยบายสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง ภาคประชาชนก็จะจับตาดู” นายนิมิตร์ กล่าว
นายนิมิตร์ กล่าวว่า ตนมีข้อเสนอต่อคณะกรรมการฯ เพื่อมาแก้ไขเรื่องที่เป็นปัญหาระบบสุขภาพของประเทศ เช่น การมีหลายกองทุนสุขภาพที่ไม่มีประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณ ต่างคนต่างใช้ ซ้ำซ้อนและเหลื่อมล้ำในการใช้สิทธิ เป็นโจทย์ว่าจะเข้ามาแก้เรื่องนี้หรือไม่ เพราะเรื่องนี้ไม่สามารถแก้ไขได้จากหน่วยงานเดียวอย่าง สปสช. หรือ สธ. เพราะเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง หรือการทำประกันสุขภาพให้แรงงานข้ามชาติ ที่พบปัญหาบัตรสุขภาพแรงงานหรือบัตรสีชมพู เมื่อแรงงานป่วยไป รพ. หลายโรคที่มีค่าใช้จ่าย หลาย รพ.ก็ไม่อยากรับรักษา ไม่อยากขายให้ในปีถัดไป เรื่องเหล่านี้ควรมีระบบใหญ่ของประเทศเข้ามาจัดการ เช่น สปสช. เป็นผู้ขายบัตรสุขภาพให้แรงงาน หรือนักท่องเที่ยวที่เข้าประเทศมาแต่ไม่มีประกันสุขภาพ สปสช. ก็มาตามจ่ายให้กับ รพ.ทั้งหมด จะเป็นการตอบโจทย์เศรษฐกิจสุขภาพของประเทศได้