xs
xsm
sm
md
lg

สสส.-จุฬาฯ-TIMS-กทม. ร่วมรณรงค์รับวันสุขภาพจิตโลก 10 ต.ค.ในงาน “Better Mind Better Bangkok”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สสส.-จุฬาฯ-TIMS-กทม. ร่วมรณรงค์รับวันสุขภาพจิตโลก 10 ต.ค.ในงาน “Better Mind Better Bangkok” เปิดพื้นที่ระดมผู้เกี่ยวข้อง-นวัตกรรม สร้างความยั่งยืนทางสุขภาพจิต หลังพบสถานการณ์ปัญหาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปเป็นโรคซึมเศร้าถึง 1.5 ล้านคน ขณะที่ผู้ป่วยทางจิตเวชเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าในรอบ 6 ปี


เมื่อวันที่ 8 ต.ค.2566 ที่ สามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพฯ สถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (Thailand Institute for Mental Health Sustainability : TIMS) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่าย ร่วมรณรงค์เนื่องในวันสุขภาพจิตโลก 10 ต.ค. 2566 ในงาน “Better Mind Better Bangkok” ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สังคมไทยมักเห็นปัญหาสุขภาพจิตตอนมีปัญหา ซึ่งไม่ทันต่อสถานการณ์ เพราะการสร้างบุคลากรดูแลเยียวยารักษาอย่างไรก็ไม่เพียงพอ จึงต้องให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมสุขภาพจิต แต่ต้องไม่มองแค่เรื่องจิตใจ ต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ เช่น เศรษฐกิจครัวเรือน สิ่งแวดล้อมด้วย งานวันนี้ เป็นการหาช่องว่างในการทำงานสร้างเสริมสุขภาพจิตแล้วช่วยกันอุด และสร้างเครือข่ายที่จะเป็นกลไกสำคัญในการดูแลคุณภาพชีวิตคนทั้งใน กทม. และประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลให้สุขภาพจิตดีขึ้น 


ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ ผู้อำนวยการ TIMS กล่าวว่า สถาบันฯ ขับเคลื่อนด้วยแนวคิด ความยั่งยืนทางสุขภาพจิต คือความสามารถในการสร้างเสริมและรักษาไว้ซึ่งสุขภาวะทางจิตบนฐานของความต้องการของผู้คนและสังคมทั้งในปัจจุบันและอนาคต จาก 4 ปัจจัย 1. ความสงบทั้งภายในตัวเองและสังคม ที่มาจากปฏิสัมพันธ์บนการสื่อสารที่มีอารยะ ปราศจากความรุนแรง 2. ความเป็นธรรม ลดสภาพการถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ลดช่องว่าง เพื่อส่งเสริมโอกาสที่เท่าเทียมและมากขึ้น 3. ความสามารถปรับตัว ฟื้นฟูและอยู่ร่วมกันกับตนเองและผู้อื่น 4.ความปลอดภัย มีเครื่องมือและเทคนิคสร้างพื้นที่ปลอดภัย ส่งเสริมให้ทุกคนมีความมั่นคงและแข็งแรงอารมณ์

“ตัวกำหนดความยั่งยืนทางสุขภาพจิต ประกอบด้วย 1. องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพจิต 2. ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพจิต 3. เครือข่ายวิชาการด้านความยั่งยืนทางสุขภาพจิต งานนี้เป็นก้าวสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาความรู้เชิงวิชาการและเครือข่ายนักวิชาการด้านการสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต พัฒนาและผลักดันนวัตกรรมและข้อเสนอเชิงนโยบายด้านการสร้างเสริมสุขภาพทางจิตบนองค์ความรู้และหลักฐานทางวิชาการ ประกอบด้วย 4 เวทีเสวนา โดยนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และบุคคลที่เป็นแรงบันดาลใจ อาทิ เขื่อน-ภัทรดนัย เสตสุวรรณ, รัศมีแข ฟอเกอร์ลุนด์ฟ, อุ๋ย บุดดาเบลส-นที เอกวิจิตร์ อีกทั้งมีกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพจิตมากมาย เช่น ห้องนั่งเล่นของหัวใจ จัดการความคิด อารมณ์ ด้วยเครื่องมือดูแลสุขภาพจิตในแบบฉบับที่จับต้องได้ กิจกรรมศิลปะ Emotional Wheel และ VR for Mental Health สำรวจความรู้สึก และความหวังของตัวเองผ่านการใช้สี oil pastel กิจกรรม Check Up My Mind ประเมินสุขภาพจิตและคัดกรองความเครียดเบื้องต้น” ผศ.ดร.ณัฐสุดา กล่าว


ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ข้อมูลสถิติล่าสุดของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข พบสถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตในไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จำนวนผู้ป่วยทางจิตเวช เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า จาก 1.3 ล้านคนในปี 2558 เป็น 2.3 ล้านคน ในปี 2564 ขณะที่คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าถึง 1.5 ล้านคน สสส. ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพจิตประชาชน มุ่งเน้น “สร้างเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิต” สนับสนุนการสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับบุคคล สังคม สิ่งแวดล้อม และนโยบาย ด้วยการพัฒนาศักยภาพผู้นำการเปลี่ยนแปลง สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม โดยสอดประสานการใช้องค์ความรู้จิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) ที่ American Psychological Association เน้นย้ำถึงความสำคัญ นอกจากนี้ยังผลักดันร่วมกับการเคลื่อนนโยบาย รวมทั้งสื่อสารสาธารณะควบคู่การดำเนินการในพื้นที่ เพื่อสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพจิตให้ประชาชนทุกช่วงวัย สามารถเข้าใจตนเองและบุคคลรอบข้าง มีความเข้มแข็งทางใจ ทักษะเชิงบวก สามารถจัดการอารมณ์ ความเครียด สามารถรับมือ และจัดการปัญหาต่าง ๆ ได้

“สำหรับแนวทางส่งเสริมการสื่อสารเชิงบวกให้กับสังคม สสส. เร่งสื่อสารผ่านการประยุกต์ใช้จิตวิทยาเชิงบวก เพื่อสร้างคุณภาพชีวิต และความสุข โดยเน้นไปที่ ความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) การมองโลกในแง่ดี (Optimism) การล้มแล้วลุกไว (Resilience) และลดการตีตราผู้มีปัญหาสุขภาพจิต ในกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพจิตสูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ โดยมีกิจกรรมสร้างประสบการณ์และผลิตงานเผยแพร่ผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์และกิจกรรมกลุ่มในรูปแบบที่หลากหลาย รวมทั้งรวบรวมองค์ความรู้สื่อสารและมีความร่วมมือและสื่อ เช่น นักเขียน ผู้ผลิตละคร อินฟลูเอนเซอร์ นักประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ เพื่อสร้างคอนเทนต์สื่อสารเชิงบวกกับสังคม แนะแนวทางการสื่อสารให้ทุกคน เท่าทันความรู้สึกและสติ บอกความรู้สึกตนเอง ชื่นชมให้เกียรติกัน รับฟัง เข้าใจ ไม่ตัดสิน และค้นหาทางออกร่วมกัน ” ดร.ชาติวุฒิ กล่าว












กำลังโหลดความคิดเห็น