"ชลน่าน" ตอบกระทู้ ส.ว.ปมปัญหาถ่ายโอน รพ.สต. ทั้งปัญหาบุคลากรไม่ต้องการไป ต้องปรับเกลี่ยวตำแหน่งดูแลให้เหมาะสม แจงไม่ได้ยื้อถ่ายโอน เหตุบางคนผิดเงื่อนไข ไม่ได้ทำงาน รพ.สต. หากต้องการไปต้องโอนย้ายมีตำแหน่งรองรับ
เมื่อวันที่ 9 ต.ค. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีตอบข้อซักถามของ ส.ว.ประเด็นการถ่ายโอน รพ.สต. ว่า ทาง นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เป็นประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข ท่านศึกษาเรื่องนี้และนำสิ่งที่ค้นพบ สภาพปัญหา สิ่งที่เกิดขึ้น แนวทางการแก้ไขมาตั้งคำถาม โดยเฉพาะมุ่งเน้นเรื่องบุคลากร คำถามแรกท่านถามว่าเมื่อมีการถ่ายโอน รพ.สต. มีบางส่วนไม่ประสงค์ถ่ายโอน บางส่วนถ่ายโอนไปแล้วต้องการโอนย้ายกลับ จะมีการมาตรการดูแลเยียวยาอย่างไร และในปี 2567 จะมีการยกเลิกการถ่ายโอนหรือไม่ ด้วยงบประมาณที่ยังไม่ได้จัดเตรียมไว้ กระบวนการก็ยังไม่ได้เริ่ม แต่แจ้งความประสงค์ไว้ การโอนย้ายปี 2567 แจ้งความประสงค์เมื่อ ต.ค. 2566 ให้เวลา 1 เดือนว่าใครจะถ่ายโอนหรือไม่ จากนั้นให้เวลา 7 วันว่าจะยกเลิกเพิกถอนหรือไม่ ถ้าไม่ยกเลิกเพิ่มถอนถือว่าสิ่งที่แจ้งไว้อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องถ่ายโอน ซึ่งเป็นขั้นตอนเดียวกันกับการถ่ายโอนปี 2566
"ปี 2566 มีการถ่ายโอน 2,300 กว่าแห่ง มีบุคลากร 21,557 คน เป็นข้าราชการกึ่งหนึ่งที่ถ่ายโอนไป มีคนที่ประสงค์จะกลับมา สธ. ประมาณ 200 กว่าคน เป็นข้าราชการทั้งหมด คนไม่ประสงค์ถ่ายโอน โดยหลักการกระจายอำนาจ เราถ่ายโอนภารกิจ คน อัตราโดยตำแหน่งที่รองรับ สิ่งของ และด้วยความสมัครใจ พอมีคนไม่ถ่ายโอน หมายถึงตำแหน่งไป แต่คนไม่ไป เราต้องเยียวยาโดยการหาตำแหน่งให้เขาซึ่งยังประสงค์อยู่ สธ. เป็นหน้าที่ของพวกเราต้องเกลี่ยให้ทำงานอยู่ได้ใน สธ. เพราะตำแหน่งเขาไปแล้ว" นพ.ชลน่านกล่าว
นพ.ชลน่านกล่าวว่า อีกส่วนคือใช้เงื่อนไขของการช่วยราชการ ถ้าใครยังไม่ตัดสินใจหรือตัดสินใจช่วยราชการ เรามีเวลาให้ 2 ปี ค่อยมาตัดสินใจ ส่วนปี 2567 เรามีอยู่ 900 กว่าแห่งที่จะถ่ายโอน คนที่ถ่ายโอนมี 7 พันกว่าคน จาก 8 พันกว่าคนที่มีคุณสมบัติครบ คนที่คุณสมบัติไม่ครบคือ เจ้าหน้าที่ที่ไม่ได้ทำหน้าที่ รพ.สต. แต่ทำงานใน รพ. แต่ลงชื่อประสงค์ถ่ายโอน ซึ่งไม่เข้าเงื่อนไขก็ต้องคัดออก แผนการถ่ายโอนหลังจากที่มีการประเมินผลจะมีการชะลอไหม ผลการประเมินปี 2567 ยังไม่ออก แต่บนพื้นฐานที่เราเปิดช่องว่างถ่ายโอนเมื่อมีความพร้อมและความสมัครใจ ก็คือการชะลอให้มีความเหมาะสม
ถามถึงกรณีพื้นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่า สธ.ยื้อไม่ให้ไป เนื่องจากบางคนรายงานตัว อบจ.แล้ว แต่ถูกเรียกกลับปฏิบัติงาน สธ.ตามเดิม นพ.ชลน่านกล่าวว่า ต้องสื่อสารทำความเข้าใจ เพราะอาจเข้าใจผิด เช่น คนเป็นพยาบาลอยู่ รพ.ชุมชน แต่ไปลงชื่อถ่ายโอนไป รพ.สต. กลุ่มนี้คือนอกหลักเกณฑ์ เพราะตัวเองไม่ได้ปฏิบัติงานใน รพ.สต. เวลาพิจารณาคัดคุณสมบัติ ก็จะถูกคัดออก ประเด็นน่าจะอยู่ตรงนี้มากกว่า กระทรวงไม่ได้เรียกกลับ แต่คุณไม่มีคุณสมบัติถ่ายโอน ตำแหน่งคุณยังมีเหมือนเดิม คนกลุ่มนี้อยากไปทำงาน รพ.สต.ต้องทำอย่างไร ต้องโอนตำแหน่งโอนข้ามกระทรวง เหมือนข้าราชการทั่วไป มีความประสงค์ไปทำงาน รพ.สต.สังกัดกระทรวงมหาดไทย โอนไปได้แต่ต้องมีตำแหน่งที่นั่นรองรับ จะเอาตำแหน่งไปด่วยไม่ได้ ซึ่งผิดกับคนที่สังกัด รพ.สต.ที่ไม่ถ่ายโอน ซึ่งสลับกัน คือ ตำแหน่งไปแล้วแต่ตัวยังอยู่ ก็หาวิะบริการจัดการให้คนสองกลุ่มไปด้วยกันได้ ก็ต้องคุยกันอีกเยอะในแง่เตรียมความพร้อมจัดสรรตำแหน่งให้สอดคล้องเหมาะสม