xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ด สปสช.เห็นชอบแนวทางจัดสรรงบบัตรทองปี 67 ให้ รพ.สต.ถ่ายโอน กำหนด 3 ทางเลือกจ่าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บอร์ด สปสช. เห็นชอบหลักการแนวทางจัดสรรงบหลักประกันฯ ให้สถานีอนามัยฯ - รพ.สต. ที่ถ่ายโอนไปท้องถิ่น กำหนดทางเลือกจ่ายผ่าน CUP หรือโอนงบประมาณตรงให้ รพ.สต.

เมื่อวันที่ 7 ต.ค. นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. เป็นประธาน มีมติเห็นชอบหลักการแนวทาง การจัดสรรงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ให้สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษานวมินทราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปีงบประมาณ 2567 ตามข้อเสนอเสนอจากคณะทำงานจัดทำข้อเสนอการบริหารจัดการงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตามนโยบายการกระจายอำนาจด้านสาธารณสุข

"หลังจากมีการถ่ายโอนภารกิจ สอน. และ รพ.สต. แก่ อบจ. บอร์ด สปสช. ได้มีมติเห็นชอบในหลักการแนวทางและรูปแบบการจัดสรรเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ตามนโยบายกระจายอำนาจ เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2565 และคณะทำงานฯ ได้จัดทำข้อเสนอการจัดสรรเงินเหมาจ่ายรายหัวของ สปสช. เพื่อสนับสนุนการจัดบริการของ สอน. และ รพสต. ที่ถ่ายโอน โดยกระทรวงมหาดไทยมีมติเห็นชอบในหลักการแนวทางและรูปแบบการจัดสรรเงินกองทุนหลักประกันฯ เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2566 และผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดําเนินงานและบริหารจัดการกองทุนปีงบประมาณ 2567 เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา" นพ.อภิชาติกล่าว

นพ.อภิชาติ กล่าวว่า หลักการแนวทางและรูปแบบการจัดสรรเงินกองทุนฯ สำหรับ สอน. และ รพ.สต. ในปี 2567 ยังยึดหลักการคือ สอน. และ รพ.สต. ยังคงสถานะเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิเครือข่ายในระบบหลักประกันฯ แม้จะถ่ายโอนให้ อบจ. ไปแล้ว โดยอาจเป็นเครือข่ายกับหน่วยบริการสังกัด สธ. เช่น รพ.ชุมชน รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป หรือเป็นเครือข่ายกับหน่วยบริการนอก สธ./หน่วยบริการเอกชนก็ได้ ส่วนทางเลือกรูปแบบการจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยบริการปฐมภูมิจะมี 3 รูปแบบ คือ 1.จัดสรรงบผ่านหน่วยบริการประจำ (CUP) 2. โอนงบประมาณตรงให้ รพ.สต. ภายใต้เงื่อนไขที่ตกลงกับ CUP และ 3. ทางเลือกอื่นๆ (ถ้ามี) โดยสามารถเลือกทางเลือกได้ โดยไม่จำเป็นต้องดำเนินการเหมือนกันทุกแห่ง ส่วนการจัดบริการในระดับพื้นที่ ยังคงเป็นเครือข่ายหน่วยบริการที่เชื่อมต่อกัน ทั้งหน่วยบริการปฐมภูมิ หน่วยบริการประจำ หน่วยบริการรับ-ส่งต่อ โดยประชาชนผู้มีสิทธิสามารถเข้าถึงบริการได้ตามสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

นอกจากนี้ หน่วยบริการประจำยังคงสนับสนุนยา เวชภัณฑ์ การจัดบริการโดยทีมสหวิชาชีพและทรัพยากรที่จำเป็นในการจัดบริการให้กับหน่วยบริการปฐมภูมิที่ถ่ายโอนไปแล้วตามความเหมาะสมและตามรูปแบบข้อตกลง โดยค่าบริการสาธารณสุขตามผลงานบริการ จ่ายให้กับหน่วยที่เป็นผู้จัดบริการโดยตรง ส่วนบริการใดที่เป็นค่าดำเนินการร่วมกันระหว่าง รพ.แม่ข่าย กับ สอน./รพ.สต. ให้มีการกำหนดสัดส่วนการจ่ายให้ชัดเจน มีการประเมินศักยภาพการจัดบริการของ สอน./รพ.สต. กรณีการส่งต่อผู้ป่วยนอกให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่ สปสช.กำหนด


กำลังโหลดความคิดเห็น