xs
xsm
sm
md
lg

“หมอปัตพงษ์” เผยกรณีศึกษาใช้กัญชาบำบัดยาบ้า-ยาเสพติดสำเร็จในสหรัฐฯ และในไทย แนะศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“หมอปัตพงษ์” เผยกรณีศึกษาใช้กัญชาบำบัดยาเสพติดทั้งในสัตว์ทดลองและในคนในสหรัฐอเมริกาพบว่าได้ผลดี ในไทยก็มีคนที่เลิกยาบ้าสำเร็จโดยการสูบกัญชามาแล้ว แนะควรศึกษาวิจัยเรื่องนี้อย่างจริงจัง จะเกิดประโยชน์มหาศาล

รศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ หน่วยเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เขียนบทความเรื่อง “กัญชาช่วยบำบัดรักษายาบ้าและยาเสพติดอื่นๆ” มีรายละเอียดดังนี้

ในต่างประเทศ มีการศึกษาวิจัยสรรพคุณของกัญชาในการบำบัดรักษาอาการเสพติดจากยาบ้าและยาเสพติดอื่นๆ ทั้งในสัตว์ทดลองและในคน พบว่าได้ผลดี ในประเทศไทยมีกรณีศึกษาคนที่เลิกยาบ้าได้สำเร็จโดยการสูบกัญชา จึงควรมีการศึกษาวิจัยทดลองเรื่องนี้อย่างจริงจัง จะเกิดประโยชน์อย่างมากมายมหาศาลต่อคนไทย

ปัญหายาบ้า
ปัญหาการเสพติดยาบ้า มีผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจของครอบครัวและประเทศชาติมากมาย แม้จะจัดให้ยาบ้าอยู่ในบัญชียาเสพติด มีบทลงโทษสูง แต่ปัญหานี้ยังไม่ลดลง ผู้เสพยาบ้า แม้รับการบำบัดไปแล้ว ยังกลับไปเสพซ้ำ จำนวนหนึ่งถูกจับกุม

สถิติผู้ต้องขังทั่วประเทศ จำนวน 273,048 คน เป็นคดียาเสพติด เท่ากับร้อยละ 74.71 [1] ถ้าคำนวณความสูญเสียแรงงานของครอบครัว คิดจากค่าแรงวันละ 300 บาท จะมีมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ สูงถึง 2.2 หมื่นล้านบาทต่อปี

ยังไม่นับค่าสูญเสียโอกาสของครอบครัวและค่าใช้จ่ายในกระบวนการยุติธรรมอีกมากมาย

การแก้ปัญหานี้ให้ได้ผลจึงต้องการ การ “คิดใหม่ ทำใหม่”
การใช้ “กัญชา” เพื่อบำบัดยาบ้าและยาเสพติดอื่นๆ เป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

ประสบการณ์ในต่างประเทศ
ที่สหรัฐอเมริกา นพ.ท็อด มิกูริยา จิตแพทย์แห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย รวบรวมผลการวิจัยเรื่องสรรพคุณทางการแพทย์ของกัญชา ที่มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ออกเผยแพร่ [2]

ทำให้เกิดความตื่นตัวทางสังคม จนทำให้มลรัฐแคลิฟอร์เนียแก้กฎหมายปลดล็อคกัญชาสำเร็จเป็นรัฐแรก เมื่อ 27 ปีมาแล้ว

หลังจากนั้น นพ.ท็อด เปิดคลินิกกัญชา รับรักษาโรคหลายโรค รวมทั้งนำมาใช้บำบัดยาเสพติด เช่น สุรา มอร์ฟีน โคเคน และสารเสพติดอื่นๆ มีผู้ป่วยมารับบริการจำนวนมาก

ที่แคนาดา ดร.ฟิลิป ลูคัส ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยาเสพติดแห่งบริติชโคลัมเบีย พบว่า ผู้ใช้กัญชาที่ขึ้นทะเบียนกับรัฐ สามารถเลิกยาเสพติดชนิดต่างๆลงได้ ดังนี้

สุรา ร้อยละ 45, บุหรี่ ร้อยละ 31, มอร์ฟีน ร้อยละ 59, ยาเสพติดอื่นๆ ร้อยละ 27 [3]

พญ.แคโรลีน แม็คคอลลัม และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย แคนาดา ทบทวนองค์ความรู้จากงานวิจัย 27 ฉบับ สรุปว่า สารจากกัญชา ซีบีดี (CBD) ช่วยลดความอยากเสพมอร์ฟีนลงได้ [4]

นพ.เคแวน กาบี และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ออสเตรเลีย ทบทวนองค์ความรู้จากงานวิจัย 25 ฉบับ พบว่า สารสกัดจากกัญชา เมื่อใช้ร่วมกับการรักษามาตรฐาน สามารถลดความอยากเสพสารเสพติดได้หลายชนิด [5]

ดร.ฟรานซิสโก นาวาเรนเต และคณะ แห่งสถาบันประสาทวิทยา มหาวิทยาลัยไมกูเอล เฮอมานเนส สเปน ทบทวนองค์ความรู้จากงานวิจัยทั้งในสัตว์ทดลองและในคน พบว่า สารจากกัญชา ซีบีดี (CBD) มีฤทธิ์ต้านการเสพติด โดยกลไกชีวะโมเลกุลหลายอย่างในระบบประสาท รวมทั้งการสร้างเซลล์สมองขึ้นมาใหม่ (hippocampal neurogenesis) [6]

จึงน่าสนใจเป็นอย่างมาก ว่า กัญชาไม่เพียงช่วยบำบัดยาเสพติด แต่ยังช่วยฟื้นฟูความเสียหายของระบบประสาทได้อีกด้วย


กรณีศึกษาในประเทศไทย
มีกรณีศึกษาที่น่าสนใจในประเทศไทย ที่แสดงให้เห็นว่า คนติดยาบ้า สามารถเลิกเสพได้โดยการหันมาสูบกัญชา และต่อมาก็สามารถเลิกกัญชาได้ด้วย

ดังเช่นกรณีของ นายพงษ์พัฒน์ นามูลน้อย (ไก่ เดินวนฟาร์ม) อายุ 33 ปี ที่อำเภอเมืองจังหวัดขอนแก่น

เขาเคยเสพติดยาบ้า จนมีอาการรุนแรง ถึงขั้นจะทำร้ายมารดา เมื่อหันมาสูบกัญชา กลับสามารถเลิกเสพยาบ้าได้ และทำธุรกิจปลูกผักปลอดสารพิษและรับซ่อมคอมพิวเตอร์ ปัจจุบันถูกเชิญให้เป็นวิทยากรของโรงเรียนประถม [7]

คุณไก่ยืนยันว่าใช้กัญชาแล้ว ไม่มีหลอน สามารถหยุดยาบ้าได้ใน 7 วัน และจะช่วยลืมสารเสพติดทุกอย่างได้ภายใน 3 เดือน [8]

อีกกรณีหนึ่งเผยแพร่โดยสมาคมกัญชาจังหวัดขอนแก่น เมื่อต้นเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา เป็นผู้ติดยาบ้า อายุ 21 ปี ที่อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น เสพยาบ้า จนมีอาการหลอน ถ้าไม่ได้เสพจะมีอาการฉุนเฉียว ด่อทอ แม่และยาย ไม่กิน ไม่นอน

โชคดีที่มีสารวัตรตำบล แนะนำให้สูบกัญชา สลับกับการดื่มน้ำหวาน ปัจจุบันสามารถเลิกยาบ้าได้ ไปทำงานรับจ้างในกรุงเทพฯ ส่งเงินให้แม่และยายใช้ เดือนละ 1,500 บาท และปัจจุบันก็เลิกสูบกัญชาแล้ว [9]

“กัญชา สามารถคืนคนดี แรงงาน กลับสู่สังคม สร้างเศรษฐกิจระดับครอบครัว และสังคมได้”

ข้อคิดปิดท้าย

ประเทศไทย จมอยู่กับปัญหายาบ้า มาอย่างยาวนาน วิธีการแก้ปัญหาแบบเดิม ไม่ได้ลดหรือบรรเทาปัญหาลงได้อย่างที่คาดหวัง

จำเป็นต้องใช้วิธีคิดใหม่ และความรู้ใหม่

“กัญชา” เป็นทางออกอย่างหนึ่งที่ควรได้รับการพิจารณา

ควรมีการศึกษาวิจัยทดลองเรื่องนี้อย่างจริงจัง จะเกิดประโยชน์อย่างมากมายมหาศาลต่อคนไทยและสังคมไทย

แหล่งอ้างอิง
[1] กรมราชทัณฑ์. รายงานติดตามสถานการณ์กรมราชทัณฑ์. ประจำวันที่ 2 ตุลาคม 2566. http://www.correct.go.th/stathomepage/

[2] Mikuriya TH. Marijuana in Medicine: Past, Present and Future. Cali Med. 1969 Jan; 110(1): 34-40. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC1503422/

[3] Lucas P, Baron EP, Jikomes N. Medical cannabis patterns of use and substitution for opioids & other pharmaceutical drugs, alcohol, tobacco, and illicit substances; results from a cross-sectional survey of authorized patients. Harm Reduct J.2019; https://harmreductionjournal.biomedcentral.com/articles/10.1186/s12954-019-0278-616(9):

[4] Lo LA, MacCallum CA, Nanson K, Koehn M, Mitchell I, Milloy MJ, Walsh Z, Fehr F. Cannabidiol as a Harm Reduction Strategy for People Who Use Drugs: A Rapid Review. Can J Psychiatry. 2023 Aug;68(8):557-571. doi: 10.1177/07067437231183525. Epub 2023 Jun 27. PMID: 37376827. 
https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/37376827/

[5] Gharbi KA, Bonomo YA, Hallinan CM. Evidence from Human Studies for Utilising Cannabinoids for the Treatment of Substance-Use Disorders: A Scoping Review with a Systematic Approach. Int J Environ Res Public Health. 2023 Feb 24;20(5):4087. doi: 10.3390/ijerph20054087. PMID: 36901098.
https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/36901098/

[6] Navarrete F, García-Gutiérrez MS, Gasparyan A, Austrich-Olivares A, Manzanares J. Role of Cannabidiol in the Therapeutic Intervention for Substance Use Disorders. Front Pharmacol. 2021 May 20;12:626010. doi: 10.3389/fphar.2021.626010. PMID: 34093179.
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC8173061/

[7] ผู้จัดการออนไลน์. เปิดอก! “ไก่ ขอนแก่น” หนุ่มวัย 33 ปี เลิกยาบ้าได้เด็ดขาด เพราะกัญชา. เผยแพร่ 29 พ.ย.2565.
https://mgronline.com/local/detail/9650000113695

[8] บ้านเมืองออนไลน์. "อดีตนักเสพยา 15 ปี" เจ้าของฟาร์ม "เดินวนฟาร์ม" ค้านคว่ำ พ.ร.บ.กัญชา ยกเป็นต้นไม้สวรรค์. เผยแพร่ 15 พ.ย.2565.
https://www.banmuang.co.th/news/politic/304600

[9] ผู้จัดการออนไลน์. เผยกรณีศึกษา ใช้กัญชารักษาคนเสพยาบ้า กลับมาสุขภาพแข็งแรง เป็นคนปกติได้. เผลแพร่ 2 ต.ค.2566.
https://mgronline.com/qol/detail/9660000088706


กำลังโหลดความคิดเห็น