xs
xsm
sm
md
lg

ผลักดันชุมชน กทม.เข้มแข็งในมหกรรมชุมชนเมืองเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (2 ต.ค.) ชุมชนสุขภาวะ 55 แห่งในกรุงเทพมหานครกว่า 600 คน ร่วมกับสำนักสร้างสรรค์โอกาส (สำนัก 6) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรุงเทพมหานคร และ มูลนิธิสถาบันวิจัยและปฏิบัติการสังคม จัดมหกรรมชุมชนเมืองเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนขึ้นที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กิจกรรมในชุมชนเพื่อสร้างเสริมสังคมสุขภาวะ ทั้งด้านการจัดพื้นที่สุขภาวะชุมชน การส่งเสริมกิจกรรมทางกายเพื่อลดโรค NCDs การจัดการขยะในชุมชน และการจัดการโควิด-19 โดยชุมชน ก่อนนำไปต่อยอดขยายผลในพื้นที่อื่นๆของกรุงเทพมหานครต่อไป

ดร.จำเนียร วรรัตน์ชัยพันธ์ ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและปฏิบัติการสังคม กล่าวว่า ยินดีที่ได้เห็นชุมชนสามารถรวมตัวกันทำกิจกรรมได้ หลังจากที่ได้ร่วมกันดำเนินโครงการส่งเสริมความเข็มแข็งชุมชนเมืองเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักสร้างสรรค์โอกาสของ สสส. ไม่ว่าการรวมตัวจะมาจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ความมั่นคง หรือที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาสุขภาวะ และสุขภาพ ถ้าหากชุมชนไหนมีความเข้มแข็ง ก็จะเป็นภูมิต้านทานที่ดี

“ผมได้มีโอกาสร่างยุทธศาสตร์ชาติ  20 ปี และเป็นต้นแบบยุทธศาสตร์ที่ 5 ว่าด้วยเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พวกเราระบุได้เลยว่า ต้องรักษาทั้ง 2 อย่าง ทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรม หน่วยงานของรัฐและการบริหารจัดการทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะต้องพยายามหาเครื่องอำนวยความสะดวกให้กับชุมชน ทั้งโครงสร้างแผนงาน และเงินสนับสนุน แต่ต้องให้ระเบียบเคลื่อนไปด้วยกัน อย่าให้ระเบียบกลายเป็นอุปสรรคของการบริหารจัดการชุมชน” ดร.จำเนียร กล่าว

ส่วน น.ส.กนกนุช กลิ่นสังข์ ประธานกรรมการการสาธารณสุข สภากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ได้เห็นพลังและความต้องการประชาชน รวมทั้งปัญหาและการหาทางออก โชคดีที่ สสส.และมูลนิธิสถาบันวิจัยและปฏิบัติการสังคม เข้ามาช่วยเหลือทำให้ชุมชนตัวอย่างเหล่านี้สามารถช่วยเหลือตัวเองในด้านสุขภาวะได้

“ขณะนี้ประเทศไทยพยายามกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ไม่ใชเพียงเรื่องการปกครองเท่านั้น แต่หมายถึงทุกเรื่อง ที่สำคัญที่สุดคือเรื่องสุขภาพ ต้องยอมรับว่า แม้กรุงเทพมหานครจะเป็นเมืองหลวง แต่ก็ยังมีปัญหาการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ต้องรอคิวนาน กรุงเทพมหานครจึงพยายามทำโครงการต่างๆ เช่น คลินิกครอบครัวอบอุ่นเพื่อให้คนกรุงเทพมหานครเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ง่ายขึ้น แต่การส่งเสริมให้ประชาชนไม่เจ็บป่วยและแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ ก็จะทำให้งบประมาณการรักษาพยาบาลลดลง และสุขภาพประชาชนก็จะดีขึ้นด้วย”

นายแสนยากร อุ่นมีศรี ผอ.สำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ประชากรในชุมชนของกรุงเทพมหานครมีอยู่กว่า 1,930,000 คน และมีกรรมการชุมชนกว่า 18,000 คน โดยนับว่าเป็นร้อยละ 30 ของประชากรทั้งหมด และสัดส่วนผู้สูงอายุในกรุงเทพมหานคร ก็มีมากกว่า 1,200,000 คนแล้ว โดยคิดเป็นกว่าร้อยละ 20 และยังคงเพิ่มสูงขึ้นทุกเดือน ดังนั้น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จึงมีนโยบายที่จะผลักดันให้ชุมชนเข้มแข็ง ด้วยการสนับสนุนงบประมาณให้ชุมชนละ 200,000 บาท ไปดำเนินการโดยต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อที่จะพัฒนาสุขภาวะชุมชนให้ดีขึ้นต่อไป






กำลังโหลดความคิดเห็น