เผยผลการวิจัยโดยคณะนักวิจัยจาก ม.ขอนแก่น พบว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะประคับประคองที่ใช้ยากัญชามีชีวิตอยู่รอดนานกว่าและมีคุณภาพชีวิตดีกว่า
คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ศึกษาวิจัยเปรียบเทียบผลทางคลินิกของผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะประคับประคองที่ใช้ยากัญชากับผู้ป่วยที่ไม่ได้ใช้ยากัญชา พบว่า กลุ่มผู้ป่วยที่ใช้ยากัญชามีระยะเวลาของการรอดชีพนานกว่า และมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า
โรคมะเร็งเป็นสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย มีผู้ป่วยรายใหม่ปีละ 190,000 คน เสียชีวิตปีละ 124,000 คน หรือวันละ 340 คน หรือชั่วโมงละ 14 คนเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ในคนไทยมามากกว่า 20 ปี [1] คำนวณเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึง 80,000 ล้านบาทต่อปี [2] สร้างความทุกข์ทรมานให้คนไทยและครอบครัวคนไทยเหลือคณานับ
ปัจจุบันประเทศไทยได้เปิดโอกาสให้นำยากัญชามาใช้รักษาบรรเทาการเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ รวมทั้งโรคมะเร็ง มีโรงพยาบาลเปิดคลินิกกัญชา ให้บริการไปแล้ว 1,026 แห่ง ทั่วประเทศ ทั้งภาครัฐและเอกชน [3]
คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ประกอบด้วย ธนเมศวร์ แท่นคำ, บัณฑิต ชุมวรฐายี, ภูชิต ดาบภูเขียว, พนิดา พิทยกิตติวงศ์, ธนพล ศรีวงษ์, สาธิตา เรืองสิริภคกุล, กัญญาภัค ศิลารักษ์, วิจิตรา เสนา, ขจรศักดิ์ สีวาที และปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ จึงสนใจศึกษาเรื่องผลการรักษาด้วยยากัญชา [4][5][6]
เป็นการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบผลทางคลินิกของผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะประคับประคองที่ใช้ยากัญชา จำนวน 49 ราย กับผู้ป่วยที่ไม่ได้ใช้ยากัญชา จำนวน 49 ราย จากโรงพยาบาล 6 แห่ง โดยดูเรื่อง ระยะเวลาการรอดชีพ คุณภาพชีวิต และภาวะแทรกซ้อน
ผลการศึกษา
1. ลักษณะของยากัญชาที่ใช้
กลุ่มที่ใช้กัญชา ส่วนใหญ่ได้รับน้ำมันกัญชาตำรับหมอเดชา 5% (มีTHC:CBD = 0.08:0.02 มิลลิกรัม/หยด)จำนวน 21 คน คิดเป็นร้อยละ 42.86 รองลงมาคือ ใช้กัญชาสด ต้มดื่มด้วยตนเองจำนวน 12 คน คิดเป็นร้อยละ 24.49 และใช้น้ำมันกัญชาตำรับหมอเดชา 10% (มี THC=0.1 มิลลิกรัม/หยด) จำนวน 11 คน คิดเป็นร้อยละ 22.45
2. ระยะเวลาอยู่รอด
ผู้ป่วยที่ใช้ยากัญชา มีระยะเวลาอยู่รอด นาน 24 เดือน เท่ากับ ร้อยละ 56.23 ในขณะที่ ผู้ป่วยที่ไม่ได้ใช้ยากัญชา อยู่รอด ร้อยละ 42.05
เมื่อวิเคราะห์โดยดูจากโค้งปลอดเหตุการณ์ โดยวิธีแคปลานและไมย์เออร์ (Kaplan-Meier) พบว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ใช้กัญชามีชีวิตอยู่เกินร้อยละ 50 ในทุกระยะเวลาของการรอดชีพ (นั่นคือ ผู้ป่วยจำนวนครึ่งหนึ่งปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่) แต่กลุ่มที่ไม่ใช้กัญชามีผู้เสียชีวิตไปแล้วครึ่งหนึ่ง ในระยะเวลา 18 เดือน ดังนั้นกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งที่ใช้ยากัญชามีระยะเวลารอดชีพ “นานกว่า” กลุ่มผู้ป่วยมะเร็งที่ไม่ใช้ยากัญชา (ภาพที่ 1)
3. คุณภาพชีวิต
วัดโดยเครื่องมือมาตรฐานสากล (Edmonton Symptom Assessment System, ESAS) พบว่ากลุ่มที่ใช้ยากัญชามีคะแนนคุณภาพชีวิต ที่ดีขึ้น “มากกว่า” กลุ่มที่ไม่ใช้ยากัญชา อย่างมีนัยสำคัญ
นั่นคือ ผู้ป่วยที่ใช้ยากัญชา มีอาการปวด อาการเหนื่อย อ่อนเพลีย อาการคลื่นไส้ อาการซึมเศร้า วิตกกังวล อาการง่วงซึม สะลืมสะลือ เบื่ออาหาร อาการเหนื่อยหอบ “ลดลง” มากกว่ากลุ่มที่ไม่ใช้ยากัญชา
4. ภาวะแทรกซ้อน
โดยดูที่ค่าการทำงานของไตและตับ พบว่า ค่าการทำงานของไต ของทั้งสองกลุ่ม “ไม่แตกต่างกัน” ในขณะที่ ผู้ป่วยที่ใช้ยากัญชา มีค่าการทำงานของตับ “ดีกว่า” กลุ่มที่ไม่ใช้ยากัญชา อย่างมีนัยสำคัญ
หมายเหตุ - ยากัญชาตำรับหมอเดชา พัฒนาสูตรยาโดย อาจารย์เดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งมอบสิทธิ์ให้แก่กระทรวงสาธารณสุขเพื่อประโยชน์สาธารณะ [7]
แหล่งอ้างอิง
[1] WHO IARC. Cancer in Thailand 2020. Available at https://gco.iarc.fr/today/data/factsheets/populations/764-thailand-fact-sheets.pdf(Accessed 30 September, 2023)
[2] ณรงค์ สหเมธาพัฒน์. ปลัดกระทรวงสาธารณสุข. วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558. สำนักข่าว Hfocus เจาะลึกระบบสุขภาพ. https://www.hfocus.org/content/2015/02/9212
[3] ประชาชาติธุรกิจออนไลน์. สธ.เผย ขยายคลินิกกัญชาฯแล้ว 1,026 แห่งทั่วประเทศ. วันที่ 18 ตุลาคม 2565
https://www.prachachat.net/general/news-1089811
[4] Thaenkhama T, Chumworathayi B, Dabpookhiew P, Pittayakittiwong P, Srivong T, Ruengsiriphakakul S, SilarakK, Sena W, Seevathee K, Kessomboon P. Clinical Outcomes, Survival rate and Safety of Medical Cannabis in Patients with Palliative Cancer: A retrospective and prospective cohort study. Arc Med Res. 2023;5(7): (Accepted to publish, In press).
[5] Thaenkham T, Chumworathayi B, Dabpookhiew P, Pittayakittiwong P, Srivong T, Ruengsiriphakakul S, SilarakK, Sena W, Seevathee K, Kessomboon P. The pain management experience of patients with palliative cancer using cannabis in the northeastern part of Thailand. THEIJES. 2023; 13(7):34-40.Available at https://tinyurl.com/4mpu2tkk (Accessed 30 September, 2023)
[6] ธนเมศวร์ แท่นคำ, บัณฑิต ชุมวรฐายี, ภูชิต ดาบภูเขียว, พนิดา พิทยกิตติวงศ์, ธนพล ศรีวงษ์, สาธิตา เรืองสิริภคกุล, กัญญาภัค ศิลารักษ์, วิจิตรา เสนา, ขจรศักดิ์ สีวาที, ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์. ทัศนคติและความรู้เกี่ยวกับกัญชาในผู้ป่วยมะเร็งระยะประคับประคอง. วารสารศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น. 2566. ปีที่ 15 ฉบับที่ 3 มิถุนายน – กันยายน 2566. หน้า 110-123. Available at https://tinyurl.com/24wy77pv (Accessed 30 กันยายน 2566)
[7] กระทรวงสาธารณสุข. กัญชาทางการแพทย์. น้ำมันกัญชา ตำรับหมอเดชา. https://www.medcannabis.go.th/blog/น้ำมันกัญชา (ตำรับหมอเดชา)