xs
xsm
sm
md
lg

นิด้าโพลสำรวจ 44% คนไม่อยากมีลูก พบสารพัดเหตุผล ตั้งแต่ไม่อยากเพิ่มค่าใช้จ่าย - กลัวกรรมตามสนอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นิด้าโพลสำรวจคนไทยคนยังไม่มีลูก พบ 44% ไม่อยากมี เหตุไม่อยากเพิ่มค่าใช้จ่าย ห่วงลูกใช้ชีวิตสภาพสังคมปัจจุบัน ไม่อยากมีภาระ ต้องการอิสระ กลัวเลี้ยงลูกไม่ดี เห็นงานสำคัญกว่า สุขภาพไม่ดี กลัวพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไม่ดี ทำลูกออกมาไม่ดี กลัวกรรมตามสนอง ส่วนใหญ่ไม่กังวลอนาคตเด็กเกิดน้อย แนะรัฐออกมาตรการหนุนการศึกษาฟรีถึงขั้นสูงสุด อุดหนุนค่าเลี้ยงดูถึงอายุ 15 ปี ลดภาษีเงินได้คนมีลูก

เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “มีลูกกันเถอะน่า” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 26-28 ก.ย. 2566 จากประชาชนอายุ 18-40 ปี กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ทั่วประเทศ รวม 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการมีลูกในปัจจุบัน โดยสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ พบว่า เมื่อถามถึงสถานะการแต่งงานและการมีลูก ร้อยละ 29.39 ระบุว่า เป็นโสดและไม่มีแฟน รองลงมา ร้อยละ 26.57 ระบุว่า แต่งงานจดทะเบียนสมรสและมีลูกแล้ว ร้อยละ 20.92 ระบุว่า เป็นโสดแต่มีแฟนแล้ว ร้อยละ 10.99 ระบุว่า แต่งงาน
ไม่ได้จดทะเบียนสมรสและมีลูกแล้ว ร้อยละ 4.58 ระบุว่า แต่งงานจดทะเบียนสมรสแต่ไม่มีลูก ร้อยละ 2.52 ระบุว่า เป็นแม่หรือพ่อเลี้ยงเดี่ยว (หม้ายที่มีลูกแล้ว โสดและมีลูกแล้ว) ร้อยละ 1.98 ระบุว่า แต่งงานไม่ได้จดทะเบียนสมรสแต่ไม่มีลูก และมีคู่ครอง (อยู่ด้วยกันแต่ไม่ได้แต่งงาน) และมีลูกแล้ว ในสัดส่วนที่เท่ากัน และร้อยละ 1.07 ระบุว่า มีคู่ครอง (อยู่ด้วยกันแต่ไม่ได้แต่งงาน) แต่ไม่มีลูก

เมื่อสอบถามผู้ที่ยังไม่มีลูก เกี่ยวกับการอยากมีลูก พบว่า ร้อยละ 53.89 อยากมี ร้อยละ 44.00 ไม่อยากมี และร้อยละ 2.11 ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ เมื่อสอบถามผู้ที่ไม่อยากมีลูก เกี่ยวกับสาเหตุที่ไม่อยากมีลูก พบว่า ร้อยละ 38.32 ไม่อยากเพิ่มค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูก เป็นห่วงว่าลูกจะอยู่อย่างไรในสภาพสังคมปัจจุบัน สัดส่วนเท่ากัน ร้อยละ 37.72 ไม่อยากมีภาระต้องดูแลลูก ร้อยละ 33.23 ต้องการชีวิตอิสระ ร้อยละ 17.66 กลัวเลี้ยงลูกได้ไม่ดี ร้อยละ 13.77 อยากให้ความสำคัญกับงานมากกว่า ร้อยละ 5.39 สุขภาพตนเองหรือคู่ครองไม่ค่อยดี ร้อยละ 2.10 กลัวพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์จะไม่ดี ทำให้ลูกที่เกิดมาไม่ดีไปด้วย และร้อยละ 0.90 กลัวกรรมตามสนองเนื่องจากเคยทำไม่ดีไว้กับพ่อ แม่

ส่วนความกังวลต่อจำนวนเด็กเกิดใหม่ในอนาคตที่จะมีน้อยมาก พบว่า ร้อยละ 50.53 ไม่กังวลเลย ร้อยละ 23.13 ไม่ค่อยกังวล ร้อยละ 17.79 ค่อนข้างกังวล และร้อยละ 8.55 กังวลมาก ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงมาตรการที่รัฐควรสนับสนุนเพื่อให้คนไทยมีลูก พบว่า ร้อยละ 65.19 ระบุว่า สนับสนุนการศึกษาฟรีในประเทศจนถึงขั้นสูงสุดสำหรับคนมีลูก ร้อยละ 63.66 รัฐอุดหนุนค่าเลี้ยงดูลูกจนถึงอายุ 15 ปี ร้อยละ 30.00 ลดภาษีเงินได้สำหรับคนมีลูก ร้อยละ 29.47 เพิ่มวันลาให้แม่และพ่อในการเลี้ยงดูลูก ร้อยละ 21.91 มีเงินรางวัลจูงใจที่สูงสำหรับเด็กแรกเกิด ร้อยละ 19.92 อุดหนุนทางการเงินแม่ พ่อเลี้ยงเดี่ยว ร้อยละ 17.18 พัฒนาและอุดหนุนการเงินศูนย์เลี้ยงเด็กเล็ก ร้อยละ 9.85 มีบริการฟรี ศูนย์ผู้มีบุตรยาก ร้อยละ 7.48 เพิ่มภาษีเงินได้สำหรับคนไม่มีลูก ร้อยละ 5.50 รัฐเปิดช่องทางในการอุ้มบุญมากขึ้น ร้อยละ 4.89 รัฐมีหน่วยงานจัดหาคู่ให้กับคนไทย ร้อยละ 2.75 รัฐไม่จำเป็นต้องมีมาตรการใด ๆ และร้อยละ 0.76 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ




กำลังโหลดความคิดเห็น