xs
xsm
sm
md
lg

"ชลน่าน" ยัน 100 วันเห็นผลนำร่อง รพ.เขตดอนเมือง ปรับปรุงอาคาร ก่อนหางบสร้างตึกใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ชลน่าน" ยัน 100 วันเห็นผล นำร่อง รพ.เขตดอนเมือง เล็งปรับปรุงอาารสถานที่ให้จัดบริการผู้ป่วยก่อน จากนั้นค่อยของบประมาณก่อสร้างเป็น รพ. เขตอื่นใช้แนวทางเดียวกัน ปลัด สธ.เร่งตั้ง คกก.ขับเคลื่อน 13 นโยบาย

เมื่อวันที่ 30 ก.ย. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงนโยบาย “50 เขต 50 รพ.” ในพื้นที่ กทม.ที่เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนที่จะต้องเริ่มทำภายใน 100 วัน ว่า ในช่วงแรกจะนำร่องในพื้นที่เขตดอนเมืองก่อน ซึ่งระยะแรกจะเป็นการดูสถานที่ที่สามารถนำอาคารที่มีอยู่เดิม มาปรับปรุงพัฒนาให้เป็น รพ. ขนาด 120 เตียง ในลักษณะการบริการปฐมภูมิที่มีห้องตรวจ มีห้องฉุกเฉิน มีห้องปฏิบัติการที่มีความพร้อม แน่นอนว่าเรื่องนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน สธ. ก็จะไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนระยะยาว ก็จะมีการของบประมาณก่อสร้างที่อยู่ในสัดส่วนของ สธ. มาเพื่อสร้างเป็น รพ.

“สิ่งที่เราจะทำให้เห็นใน 100 วัน คือ ปรับปรุงอาคารสถานที่ให้พร้อมและสามารถจัดบริการให้ผู้ป่วยได้เลย ถ้าเขตอื่นมีความพร้อมก็จะใช้วิธีการเดียวกันนี้ขยายผลไป” นพ.ชลน่าน กล่าว

นพ.ชลน่านกล่าวว่า ตนมั่นใจว่านโยบายนี้จะต้องเริ่มได้ใน 100 วัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการลงนามให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการพัฒนาศักยภาพตามนโยบายเร่งด่วน ซึ่ง นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดสธ. จะเป็นผู้ลงนามแต่งตั้งคณะอนุกรรมการอีกหลายชุดขึ้นมาทำงานร่วมกัน

เมื่อถามถึงการบริหารด้านบุคลากรที่จะต้องมาประจำที่ รพ. 120 เตียงในเขตดอนเมือง นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เราสามารถจัดสรรเข้าไปดูแลได้ ซึ่งเบื้องต้นจะเป็นบุคลากรในสังกัด สธ.ก่อน ที่หลักๆ จะเป็นเครือข่าย รพ.บ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) จากนั้น ก็จะดูว่าจำเป็นต้องใช้บุคลากรด้านใดบ้างก็จะจัดสรรมาอยู่ประจำ ทั้งนี้ ตนมองว่าอยากให้ รพ. ใน กทม. เป็นเหมือน รพ.บ้านแพ้ว ที่มีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการ และยังเป็นองค์การมหาชน ถ้าหากทำได้ก็จะเป็นแห่งที่ 2 ของไทย และสธ.จะแก้ปัญหาการจัดการที่ผ่านมาใน กทม. ทั้งหมด

ด้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า ตามที่ รมว.สธ.ประกาศ 13 นโยบายหลัก ขณะนี้อยู่ระหว่างการตั้งคณะกรรมการที่จะมาทำงานรวม 13 ชุด ซึ่ง 1 คณะทำงานก็จะมาดู 1 นโยบาย อย่างนโยบาย 50 เขต 50 รพ. เป้าหมายคือการเข้าไปแก้ปัญหาของพื้นที่ กทม. ที่ขาด รพ. ในระดับทุติยภูมิ ทำให้การเข้าถึงบริการค่อนข้างยาก ส่วนวิธีการก็มีหลากหลายวิธี ซึ่งคณะกรรมการที่รับผิดชอบก็จะไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป เช่น การร่วมมือกับ กทม. หรือจะให้กรมการแพทย์ เป็นคนทำ หรืออาจจะไปร่วมมือกับเอกชน ฉะนั้น อาจต้องใช้หลายวิธีผสมผสานกัน นอกจากนั้นก็จะต้องไปคุยกับ สปสช. รวมถึงประชาชนในพื้นที่ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น